อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) เริ่มถูกพูดถึงจากที่ประเทศเยอรมนี ประกาศนโยบายอุตสาหกรรมแห่งชาติ เมื่อ ปี 2013 โดยบอกว่า อุตสาหกรรมของเยอรมนีในปี 2033 จะเข้าสู่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ทว่าเมื่อเวลาเคลื่อนคล้อยมาเพียงปี 2024 สหภาพยุโรปก็ประกาศเตรียมตัวเคลื่อนเข้าสู่อุตสาหกรรม 5.0 แล้ว นั่นแสดงว่าเทคโนโลยีก้าวกระโดดไปมาก หากตามไม่ทันก็อาจตกขบวนชนิดที่ว่าตามใครไม่ทันเลยทีเดียว
ความแตกต่างของ Industry 4.0 กับ 5.0
นิยามของอุตสาหกรรม 4.0 คือ Smart Factory หรือโรงงานอัจฉริยะ ที่นำดิจิทัลเทคโนโลยี เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) โซลูชั่นต่าง ๆ รวมถึง AI เข้ามาควบคุมการผลิต และการทำงาน ส่วนอุตสาหกรรม 5.0 คือ มนุษย์จะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้อย่างราบรื่น เรียกว่า “Cobots” (robot บวก collaboration with human) ข้อเด่น คือ หุ่นยนต์ไม่ใช่แค่ทำงานตามคำสั่ง หรือตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ แต่มันสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำงานกับมนุษย์เหมือนคู่บัดดี้ ดูแลความปลอดภัย ลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับมนุษย์ได้
ประโยชน์ของ Industry 5.0
จากคุณสมบัติของ Industry 5.0 เห็นได้ว่า จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยั่งยืน เพราะใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการร่วมกับมนุษย์ได้อย่างลงตัว เช่น นำ AI กับหุ่นยนต์อัจฉริยะ มาลดการใช้พลังงานและวัสดุที่ไม่จำเป็น ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุกฝ่าย
ที่บอกว่าสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุกฝ่าย นั่นเพราะเกิดประโยชน์กับสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย ไม่ใช่เฉพาะผู้ถือหุ้น
หลักการอุตสาหกรรม 5.0 แม้จะอยู่ในช่วงการเคลื่อนเข้าไป แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีองค์กรใดทำ สำหรับตัวอย่างองค์กรที่นำดิจิทัลเทคโนโลยีระดับ 5.0 เข้ามาใช้ ได้แก่ BMW ซึ่งใช้หุ่นยนต์มาทำงานร่วมกับมนุษย์ ซึ่งนอกจากผลิตได้ประสิทธิภาพสูงแล้ว ยังสร้างรถออกมาให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะรายได้ หรือ Amazon ที่ใช้หุ่นยนต์ AI มาทำงานร่วมกับพนักงาน มาบริหารระบบโลจิสติกส์และคลังสินค้า เพื่อลดปัญหาในการจัดส่ง เป็นต้น
การเตรียมตัวเข้าสู่ Industry 5.0
แม้ว่าหลายประเทศเตรียมตัวเข้าสู่อุตสาหกรรม 5.0 แต่ไม่ใช่ว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังปรับตัวเข้า 4.0 จะตามไม่ทัน เพราะการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ต้องอาศัยความเข้าใจ บุคลากรทุกฝ่ายในองค์กรต้องเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัล, AI และหุ่นยนต์ เพราะเทคโนโลยีแต่ละประเภทมีบุคคลิกแตกต่างกัน ฉะนั้นการที่ค่อย ๆ ทรานฟอร์ม ค่อย ๆ นำดิจิทัลมาใช้ในโรงงานจึงเปรียบเสมือนการเตรียมตัวเข้าสู่ยุค 5.0 เพราะหากโรงงานเข้าสู่ 4.0 อย่างสมบูรณ์ ย่อมเข้าใจ 5.0 อย่างถ่องแท้ สิ่งที่จะทำให้ตกขบวน และตามคู่แข่งไม่ทัน นั่นคือการนิ่งเฉยต่อการเตรียมตัวเข้า Industry 4.0 นั่นเอง
*******
อ้างอิง
https://leanlabsolution.com/article/industry-5-0/
https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1131456
https://www.oie.go.th/assets/portals/1/fileups/2/files/ArticlesAnalysis/cementindustry_4.0.pdf
https://www.nia.or.th/Industry-5
https://piu.ftpi.or.th/wp-content/uploads/2020/07/Industry-5.0-.pdf