เมื่อเข้าสู่หน้าร้อน เชื่อว่าแทบทุกบ้านนอกจากกังวลเรื่องปีนี้อุณหภูมิจะทะลุปรอดทำสถิติอากาศร้อนสูงสุดหรือเปล่า ก็คงเป็นห่วงเรื่องค่าไฟฟ้าอีกด้วย เพราะจะต้องใช้พัดลม และเครื่องปรับอากาศหนักขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน เรียกว่าร้อนทั้งกายร้อนทั้งใจเลยทีเดียว อากาศเมืองไทยนับวันจะยิ่งร้อนขึ้นทุกปี หลายคนคงคิดอยากติดโซลาร์เซลล์เพื่อจับแสงแดดมาเป็นไฟฟ้า บทความนี้จึงขอนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์แบบใหม่มาบอกกล่าว เพราะมันจะไม่เทอะทะรกหลังคาแบบเดิมอีกแล้ว เนื่องจากมันมาในรูปแบบกระจกหน้าต่าง
หน้าต่างโซลาร์เซลล์ที่กล่าวถึงเรียกว่าเทคโนโลยี TLSC (Transparent Luminescent Solar Concentrator) คือการเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์ให้อยู่ในรูปแบบกระจกใสที่เราคุ้นเคยตามตึกอาคารต่าง ๆ โดยคุณสมบัติของมันสามารถดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต และอินฟราเรดเก็บไว้เป็นพลังงาน แล้วปล่อยให้แสงทั่วไปเข้ามอบความสว่างในอาคารบ้านเรือนได้ จึงทำให้อาคารสวยและประหยัดพลังงานได้อย่างยั่งยืน
ความเป็นมา และการทำงานของหน้าต่างโซลาร์เซลล์
TLSC พัฒนาขึ้นครั้งแรกในปี 2014 ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันถูกนำไปใช้จริงในหลายโครงการ เช่น อาคาร SwissTech Convention Center, โรงเรียน Copenhagen International School ในเดนมาร์ก ซึ่งหน้าต่างโซลาร์เซลล์จำนวน 12,000 แผงที่ติด สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 200 เมกะวัตต์ต่อปี นอกจากนี้บริษัท Physee จากเนเธอร์แลนด์ ก็นำเทคโนโลยีนี้ติดตั้งให้กับอาคารสำนักงานในยุโรปเช่นกัน
สำหรับการทำงานของหน้าต่างโซลาร์เซลล์ เริ่มจากจับรังสีอัลตราไวโอเลตและอินฟราเรดด้วยเทคโนโลยีแปลงให้เป็นกระแสไฟฟ้า แล้วส่งต่อไปเก็บที่แบตเตอรี่ เพื่อใช้ในอาคารต่อไป
ประโยชน์ของหน้าต่างโซลาร์เซลล์นอกจากแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นกระแสไฟฟ้าแล้ว การที่มันดูดซับรังสีอินฟราเรดนั้นช่วยให้ความร้อนเข้าไปในบ้านได้น้อยลง ส่งผลให้บ้านไม่ร้อน ภาระของเครื่องปรับอากาศก็น้อยตามไป ทำให้ประหยัดไฟฟ้าได้อีกขั้น
นานาเทคโนโลยีหน้าต่างโซลาร์เซลล์
หลักการสร้างหน้าต่างโซลาร์เซลล์ดูเหมือนจะไม่ได้มีเฉพาะ TLSC เพราะเมื่อย้อนไปใน ปี 2010 สถาบัน MIT และ Michigan State University ก็ได้วิจัยเทคโนโลยีนี้เช่นกัน คือ UE SOLAR WINDOW โดยมีเป้าหมายแปรกระจกทุกบานทั้งในบ้านเรือน อาคาร หรือแม้กระทั่งกระจกโทรศัพท์มือถือให้เป็นโซลาร์เซลล์เพื่อช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ทุกมุมโลก
นอกจากนี้ บริษัท inQs Co., Ltd ในญี่ปุ่น ก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีรูปแปบบนี้เช่นกัน ชื่อว่า SQPV glass เป็นโซลาร์เซลล์โปร่งใสรุ่นใหม่ ที่ผลิตพลังงานได้แม้อยู่ในอาคาร
สำหรับ Next Energy Technologies บริษัทสตาร์ทอัพด้านเซลล์พลังแสงอาทิตย์ ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ก็มีการวิจัยหน้าต่างโซลาร์เซลล์เช่นกัน โดยอ้างว่าหน้าต่างของเขามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
แนวทางลดพลังงานนอกจากหน้าต่างโซลลาร์เซลล์
เทคโนโลยีหน้าต่างโซลาร์เซลล์ในปัจจุบันอาจยังเน้นไปที่อาคารขนาดใหญ่เป็นหลัก อีกไม่นานก็คงพัฒนาให้เหมาะกับครัวเรือนขนาดเล็กได้อย่างลงตัว ทั้งนี้หากต้องการใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดพลังงานภายในบ้าน เราสามารถเริ่มได้ทันทีโดยการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สามารถเชื่อมต่อ IoT หรือ Internet of Things ได้ เพราะปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้มีการควบคุมโดย AI ที่สามารถวางแผนการใช้ไฟฟ้า ประเมินช่วงเวลาที่ใช้ไฟฟ้าสูงหรือต่ำ และปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นได้โดยอัตโนมัติ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้บ้านประหยัดพลังงานได้ แต่ที่สำคัญ คือ ต้องเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ มีมาตรฐาน
———————————————————————————————–
อ้างอิง
https://www.tnnthailand.com/tech/189847/
https://www.wazzadu.com/article/5922
https://energy-thaichamber.org/solar-windows/
https://www.energy-conservationtech.com/content/26226/ai-energy-conservation
https://happysmart.co/complete-smart-home-solution-turn-your-ordinary-home-into-a-fully-intelligent-home/