เมื่อพูดถึงการพัฒนาศักยภาพสมอง เราอาจนึกถึงวิธีการหมั่นอ่านหนังสือ เข้าคอร์สเสริมปัญญา เช่น จินตคณิต, คณิตคิดเร็ว หรือนั่งสมาธิ เป็นต้น แต่ในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีจะมีส่วนในการเพิ่มศักยภาพของสมองเป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีนำมาซึ่งความสะดวกสบาย ความรอบรู้ และสุขภาพที่ดี ตัวอย่างที่เห็นชัด ได้แก่ เทคโนโลยี Iot (Internet of Things) ที่พ่วงอุปกรณ์ไอทีและเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้ากับอินเตอร์เน็ต สามารถให้เราควบคุมอุปกรณ์เหล่านี้ไอ้แบบออนไลน์ อยู่นอกบ้านลืมปิดแอร์ก็สามารถสั่งปิดจากแอปพลิเคชั่นทันทีโดยไม่ต้องรีบกลับเข้าบ้าน, หรือ AI ChatGPT ที่ถามอะไรก็ตอบได้ ให้เขียนรายงานส่งก็ทำออกมาได้ดี
ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นเรียกได้ว่า ยกระดับศักยภาพให้มนุษย์ได้อย่างก้าวกระโดด ถึงจะหยุดพัฒนาก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่พอแค่นี้ เพราะหลายโครงการกำลังมุ่งมั่นพัฒนาให้สมองมนุษย์เชื่อมโยงกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้อย่างสมดุล
Brain-Computer Interface (BCI) หรือ เทคโนโลยีอินเทอร์เฟซระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่พยายามผสานสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ทำให้สามารถสั่งการเทคโนโลยีได้ผ่านสมอง ประโยชน์หลัก ๆ ประกอบด้วย
ช่วยในการฟื้นฟูผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยอัมพาต ที่สามารถสั่งการอวัยวะเทียมได้ผ่านสมอง
ช่วยในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ เช่น สามารถเล่นเกม ค้นหาข้อมูล ควบคุมคอมพิวเตอร์ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ช่วยในเรื่องของการวิจัยทางสมอง ประเด็นนี้ช่วยให้วงการแพทย์เข้าใจสมองได้มากขึ้น เพราะสามารถดึงข้อมูลมาวิจัยในระดับเชิงลึกได้ นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อไป
วิธีการผสานสมองให้เข้ากับคอมพิวเตอร์ มี 3 อย่างหลัก ๆ 1. ฝังอุปกรณ์เชื่อมโยงเข้ากับสมองโดยตรง ซึ่งมีความเสี่ยง อาจติดเชื้อได้ แม้ความแม่นยำจะสูงก็ตาม 2. วางไว้บริเวณหนังศีรษะเพื่อวัดสัญญาณสมอง แม้จะไม่แม่นยำเท่าแบบแรก แต่ก็ปลอดภัยกว่า และ 3. ฝังไว้ใต้ผิวหนัง วิธีนี้จะแม่นยำและปลอดภัยกว่า ขอเรียกว่าทางสายกลาง
ตัวอย่างที่พอให้เห็นภาพการเชื่อมโยงสมองกับ AI คือ นวัตกรรมของบริษัทสตาร์ตอัพ “Neuralink” ที่มี Elon Musk “อีลอน มัสก์” เป็นเจ้าของ ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2562 เขาได้ออกมาประกาศว่าได้ทดลองกับลิงแล้วสำเร็จ แต่ยังต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี และการยินยอมทางด้านกฎหมายอีกมาก
สำหรับประเทศไทย บริษัท BrainiFit จำกัด NSTDA Startup จากเนคเทค สวทช. ได้ใช้ BCI ในการออกกำลังสมอง โดยใช้คลื่นสมองควบคุมการเล่นเกมเพื่อฝึกสมาธิ หรือความจำ ในขณะเดียวกัน สวทช. เองก็ยังมีงานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีก เช่น BCI เพื่อการฟื้นฟูผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง, BCI สำหรับการควบคุมชุดโครงสร้างเสริมสมรรถภาพร่างกาย เป็นต้น
แม้เทคโนโลยีผสานสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ยังคงต้องพัฒนาอีกมาก แต่เชื่อว่าในอนาคตข้างหน้ามันจะเป็นตัวสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกอย่างมากทีเดียว
อ้างอิง
https://www.nstda.or.th/home/news_post/10-tech-bci/
https://studentcas.com/blog/2024/08/24/เทคโนโลยีอินเทอร์เฟซระ/
https://www.matichonweekly.com/column/article_218336