Software for Business

Others

21.02.2025

Sales CRM โซลูชั่นอุดรอยรั่วธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพงานขาย

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กำไร คือ หัวใจหลักของการทำธุรกิจ ซึ่งกระบวนการขายสินค้าและบริการในอุตสาหกรรม มักประกอบด้วย 7 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1. หาข้อมูลลูกค้า 2. ติดต่อลูกค้า 3. ลูกค้ารับนัด 4. เข้าพบลูกค้า 5. เสนอราคา 6. เจรจาต่อรอง 7. ปิดการขาย โดยในกระบวนการเหล่านี้ มีกลยุทธ์เพื่อผลสำเร็จแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับองค์กรนั้น ๆ แต่สิ่งที่ทุกบริษัทมีเหมือนกัน คือ รอยรั่วระหว่างเส้นทาง ซึ่งในบทความนี้ คุณสาโรจน์ อธิวิทวัส ผู้ก่อตั้งและ CEO ของบริษัท Wisible จะขอเรียกเส้นทางนี้ว่า “Sales Pipeline”

หากเปรียบ Sales Pipeline เป็นเส้นทางการขาย ก็จะมีลักษณะคล้ายการไหลของน้ำภายในท่อ PVC ซึ่งมีโอกาสเกิดรอยรั่วได้หลายจุด และเมื่อเกิดจุดน้ำรั่ว น้ำส่วนหนึ่งก็ไม่สามารถไหลไปถึงจุดหมายได้ สื่อถึงกรณีปิดการขายไม่ได้ กำไรไม่เกิด และสิ่งที่จะช่วยอุดรอยรั่ว หรือป้องกันไม่ให้ท่อรั่วได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือ MarTech Solution ที่เรียกว่า Sales CRM ซึ่งบริษัท Wisible ถือเป็นผู้พัฒนาอันดับต้น ๆ ของไทย

Wisible ผู้ช่วยแก้ปัญหาธุรกิจ ให้ชนะคู่แข่งด้วยโซลูชั่นทันสมัย
Wisible ก่อตั้งโดยผู้มีประสบการณ์ด้านการขายในธุรกิจ B2B หรือธุรกิจขนาดใหญ่ที่จำหน่ายสินค้าให้กับโรงงานอุตสาหกรรมโดยตรง มามากกว่า 20 ปี จึงเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการขายเป็นอย่างดี ซึ่ง คุณสาโรจน์ เล่าให้ฟังว่า

“Wisible เป็นบริษัทที่พัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการงานขายสำหรับธุรกิจ B2B ศัพท์สากลเรียก Sales CRM ครับ ทำหน้าที่ในการบริหาร Sales Pipeline เพราะธุรกิจ B2B ต้องพยายามขายของให้ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ต้องมีเซลล์วิ่งเสนอผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ซึ่งระบบการบริหารจัดการหลังบ้านของเซลล์ส่วนใหญ่ในเมืองไทย 90% ใช้ Excel หรือ Spreadsheet ในการบันทึกข้อมูล ตลอดจนการติดตามงาน ข้อมูลจะมากมายแค่ไหนก็แทรกเข้าไปจนสับสนไปหมด สิ่งที่เราทำก็คือการพัฒนาโซลูชั่นมาเพื่อบริหารจัดการในสิ่งนี้แหละ เพราะ Excel ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อจัดการการขาย”

สำหรับความสามารถของ Sales CRM เป็นอย่างไร บทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ

ความแตกต่างระหว่าง CRM สำหรับ B2B และ B2C
B2B ย่อมาจาก Business to Business คือ องค์กรกับองค์กรซื้อขายสินค้าด้วยกันโดยตรง ผลิตภัณฑ์ส่วนมากจึงมีราคาแพง ส่วน B2C คำเต็มว่า Business to Customer เป็นการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภคทั่วไป แม้กลุ่มเป้าหมายต่างกัน แต่หัวใจก็คือ ปิดการขายได้ มีกำไร เกิดการซื้อซ้ำ คล้าย ๆ กัน ดังนั้น CRM จึงมีความสำคัญเท่ากัน เพียงแต่ต้องแยกโซลูชั่นกัน โดย CEO บริษัท Wisible อธิบายว่า

“จริง ๆ แล้ว CRM ของ B2B กับ B2C ต่างกันหลายข้อ แต่วงการเผลอไปเรียกชื่อเดียวกันจึงทำให้สับสน ความต่างง่าย ๆ มีดังนี้ ฝั่ง B2C จะเรียกว่า Loyalty ก็คือพวกโปรแกรมสะสมแต้ม แลกบัตรดูหนัง แลกโดนัท เป็นต้น เป็นการรักษาสายสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า ส่วนฝั่ง B2B ผมเรียกว่า Sales CRM เป็นการบริหารจัดการการขายของเซลล์ที่ต้องเสนอกับองค์กรคู่ค้าให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้นจะเห็นว่าสองฝั่งนี้ต่างกันสิ้นเชิง ไม่มีความเหมือนกันเลยครับ”

“Sales CRM เกิดมาเพื่อทีมเซลล์ ฟังก์ชั่นก็คืองานขาย ดังนั้นจึงเหมาะกับองค์กรที่มีทีมเซลล์ ส่วนบางธุรกิจที่ไม่มีเซลล์ เช่น ค้าปลีก หรือร้านอาหาร ร้านทำผม ก็จะไม่เหมาะ เพราะอย่างร้านทำผม ไม่ต้องมีเซลล์ก็ได้ เนื่องจากลูกค้าเดินเข้ามาหาเอง นี่เลยเป็นเหตุผลว่า Sales CRM จึงเป็นโซลูชั่นที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมที่มี Market size สูง”

ประโยชน์ของ B2B Sales CRM
มีคำถามว่า จำเป็นแค่ไหนที่ต้องใช้ Sales CRM เพราะปัจจุบันองค์กรก็ใช้การบันทึกข้อมูลการขายด้วย Excel มาโดยตลอด ไม่เห็นติดปัญหาใด ๆ ส่วนนี้ คุณสาโรจน์ ตอบว่า ต้องมองที่ Sales Pipeline คือ กระบวนการ 7 ข้อในการปิดการขาย หากธุรกิจไม่โตมากอาจจะมองไม่เห็น เนื่องจาก…

“ธรรมชาติของ B2B ที่สำคัญ คือ มูลค่าต่อดีลสูงถึงหลักแสน หลักล้าน หลักสิบล้าน หลักร้อยล้านบาท จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องมีทีม direct sale เพราะสินค้าที่มีมูลค่าสูงส่วนใหญ่จะซับซ้อน ขายตัวเองไม่ได้เช่น เครื่องจักร ไม่ใช่จะมีใครอยู่ ๆ มาซื้อใช้ ต่างกับ B2C อย่างร้านสะดวกซื้อ ที่เมื่อเราเข้าไปแล้ว หยิบหมากฝรั่ง หยิบขนมได้เลยโดยไม่ต้องมีเซลล์มาอธิบายคุณสมบัติสินค้า เนื่องจากลูกค้าเข้าใจอยู่แล้ว แต่ B2B ไม่ใช่! ฝั่ง B2B สินค้าราคา 500,000 บาท ลูกค้าก็จะคิดเยอะหน่อย สมมติเซลล์ไปเสนอขาย ลูกค้าก็จะบอกละ ‘ผมขอคุยกับผู้เชี่ยวชาญก่อน ขอปรึกษาบอร์ดก่อน’ เป็นต้น แล้วการขายก็ไม่ได้จบภายใน 1 นาที หรือ 1 วัน แต่จะจบใน 1 เดือน, 2 เดือน หรือ 3 เดือน โปรเจ็คใหญ่ ๆ อย่างดีลกับหน่วยงานราชการถึงขนาดข้ามปีก็มี ดังนั้นทุกกระบวนการที่เซลล์เข้าไปติดต่อ หากกรอกใน Excel ข้อมูลอาจจะตกหล่น หรือหาไม่เจอได้ ข้อมูลเหล่านี้ หากตกหล่นไป หรือล่าช้า ส่งผลให้ลูกค้ายกเลิกดีลได้”

 

เมื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของ โซลูชั่น Sales CRM แล้ว คุณสาโรจน์ ได้กล่าวถึงประโยชน์ของมันอย่างเห็นภาพ โดยชี้ชวนให้นึกถึงภาพท่อน้ำประกอบว่า จริง ๆ แล้วกระบวนการขายนั้น ไม่ได้เริ่มขั้นแรกจากเซลล์เข้าไปติดต่อ ขั้นตอนแรกมาจากการหาข้อมูลลูกค้า หรือลูกค้าติดต่อเข้ามาทั้งทางโทรศัพท์ line, google form อีเมล ฯลฯ ส่วนนี้หากเซลล์ไม่เห็น หรือติดต่อกลับช้า ก็อาจเสียลูกค้าได้ เพราะลูกค้าอาจไปซื้อเจ้าอื่นแล้ว นอกจากเรื่องติดต่อครั้งแรก ขั้นตอนการต่อรองราคาก็สำคัญ เช่น หากลูกค้าขอต่อราคาลงมาก แน่นอนเซลล์ไม่สามารถตัดสินใจได้ทันที ต้องปรึกษาผู้จัดการ หรือ CEO กระบวนการเหล่านี้ หากล่าช้า ย่อมทำให้เสียลูกค้าได้เช่นกัน นี่ยังไม่นับรวมกรณีเซลล์ไม่อยากเข้าไปติดต่อบริษัทลูกค้าด้วยปัจจัยส่วนตัว เหล่านี้คือจุดน้ำรั่วทั้งสิ้น ทั้งนี้ปัญหาจะไม่เกิดหากใช้ Sales CRM เนื่องจากระบบจะแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อมีลูกค้าติดต่อเข้ามา หรือถ้ามีการต่อรองราคาที่เหนือการตัดสินใจของเซลล์ ก็สามารถแจ้งผู้บริหารระดับสูงได้ทันที โดยไม่ต้องนัดประชุมให้เสียเวลา ในส่วนพฤติกรรมเซลล์ที่อาจอ้างบริษัทว่าไปติดต่อลูกค้า ทว่าแอบออกไปทำธุระส่วนตัว ระบบ Sales CRM ก็สามารถติดตามได้ว่า ออกไปพบลูกค้าตามที่แจ้งไว้หรือไม่”

ในฐานะที่เคยเป็นเซลล์มาก่อน คุณสาโรจน์ กล่าวว่าจุดรั่วที่เซลล์นี่รูใหญ่นัก เพราะเซลล์บางคนจะเลือกขายให้กับบริษัทที่คุ้นเคย คุยง่าย บางครั้งตั้งเป้าจะขายสินค้าให้ได้ราคา 1 ล้านบาท แต่เมื่อขายไม่ได้ ก็แอบแก้ราคาให้ต่ำลง เพื่อให้เห็นว่าตัวเองทำงานได้ตรงเป้า หรือร้ายไปกว่านั้น แอบลบข้อมูลไปเลยก็มี การกระทำที่กล่าวมานี้ล้วนทำให้บริษัทเสียหาย แต่เมื่อทำงานผ่านโซลูชั่น Sales CRM จะไม่สามารถแก้ไขใด ๆ ได้เลย ถูกต้องตามกระบวนการทุกกระเบียดนิ้ว”

“Sales CRM ประโยชน์หลัก ๆ คือ ทำให้เราเห็นว่าน้ำรั่วตรงไหน พอเราเห็นปัญหา ก็สามารถแก้ได้ ถ้าต้นน้ำไม่เคลียร์ ก็ไปแก้ไขที่ต้นน้ำ ถ้าทีม Marketing ทีม Lead หรือทีมที่รับลูกค้าคนแรกมีปัญหา ก็เข้าไปแก้ตรงนั้นได้ทันที”

“คิดดูนะครับ สมมติขั้นตอนแรกดีลมาได้ 100 ดีล แต่ขั้นตอนต่อไปเหลือ 40 ดีล เท่ากับ หายไป 60 ดีล แล้วถ้าดีลละ 500,000 บาทล่ะ หายไป 60 ดีล เท่ากับเงินหายไป 60 คูณ 500,000 นะครับ” คุณสาโรจน์ เสริม

การทำงานของ Sales CRM
หลังจากอธิบายให้เห็นประโยชน์ของ Sales CRM แล้ว คุณสาโรจน์ ก็เปิดแพลตฟอร์ม Sales CRM มาสาธิตการใช้งานให้เห็นภาพจริงกันเลยว่า ใช้ง่ายอย่างไร เริ่มต้นด้วยการแสดงผลแบบการ์ดเข้าใจง่าย ข้อมูลการติดต่อลูกค้าที่สามารถกรอกด้วยตัวเอง และลิงก์กับเครือข่ายองค์กร เมื่อเกิดการติดต่อกับลูกค้า ระบบก็จะบันทึกข้อมูลให้อัตโนมัติ ผู้บริหารสามารถติดตามงาน หรือหาสาเหตุน้ำรั่วเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

“เชื่อไหมว่าบริษัทไทยกว่า 90% จะถามว่า ในเมื่อมีโปรแกรมบัญชี ERP อยู่แล้ว ทำไมต้องมี CRM ด้วย คำตอบก็คือ ERP เป็นโปรแกรมบัญชี ไม่ได้เก็บดีลที่ยังไม่ปิดการขายเอาไว้ ดังนั้นเราจะไม่รู้เลยว่าพลาดดีลไหนไปบ้าง ดีลไหนยังไม่สำเร็จ เพราะถ้าดีลยังไม่ปิด ERP จะบอกว่า ไม่ต้องส่งมา เนื่องจากมันเป็นโปรแกรมหลังบ้าน เป็นบัญชี จึงทำแค่ออกใบสั่งขาย ออกใบแจ้งหนี้ ออกใบเสร็จ ใบบันทึกบัญชี”

“อีกอย่าง ส่วนใหญ่เซลล์จะเก็บใบเสนอราคาไว้ในโฟลเดอร์กลาง แต่ใบเสนอราคาไม่ใช่ต้นน้ำ จริง ๆ แล้วต้นน้ำ คือ การที่เราเข้าไปคุยกันครั้งแรก ถ้าถามว่าเซลล์จะสร้างใบเสนอราคาเก็บไว้หรือเปล่าถ้าลูกค้ายังไม่สนใจ แต่ระบบ Sales CRM จะบันทึกไว้เลยว่า เซลล์ไปคุยกับลูกค้าบริษัทอะไรบ้าง ซึ่งหากยังไม่มีการเสนอราคาไป ผู้บริหารก็สามารถมาค้นสาเหตุและแก้ไขให้ขั้นตอนการขายดำเนินต่อได้”

“แพลตฟอร์มของ Wisible จะมีปุ่มรับนัดลูกค้า ถ้าเรากดนัด เลือกเวลาเรียบร้อย มันก็จะยิงเข้ามาในระบบของผู้บริหารอัตโนมัติ ดังนั้นเราไม่ต้องรอคนกรอก เพราะมันวิ่งเข้ามาอัตโนมัติ ดีลไม่หายชัวร์ 100%”

Sales CRM ตอบโจทย์วัฒนธรรมไทย
คุณสาโรจน์ กล่าวว่า วัฒนธรรมนักธุรกิจไทย ปิดบิลแล้ว ไม่ได้รับเงินทันที ซึ่งต่างจากเมืองนอก ที่การปิดบิล ก็คือรับเงิน ของไทยส่วนมากเมื่อปิดบิลแล้ว ต้องรอส่งสินค้า หรือมีการแบ่งรับสินค้าเป็น lot ต้องส่งหมดก่อนถึงจะได้รับเงิน ส่วนนี้ Sales CRM สามารถติดตามงานที่ยังรับเงินไม่ครบได้อย่างไม่ตกหล่นเช่นกัน

“ยกตัวอย่างเช่น ผมขายกระดาษให้อุตสาหกรรมหนึ่ง ที่มูลค่า 400,000 บาท โดยเขาบอกว่าให้ทยอยส่งเป็น 4 งวด รับเงินตามจำนวนที่ส่ง ระบบก็จะสร้างการ์ดขึ้นมาแล้วว่าผมส่งไปกี่งวดแล้ว เป็นมูลค่าเท่าไร เช่น ส่งไป 2 งวด แพลตฟอร์มก็จะสร้างการ์ดขึ้นมาแจ้งว่าส่งไปแล้ว 2 งวด คิดเป็นเงินเท่าไร นอกจากข้อมูลเหล่านี้แล้ว ระบบยังคอยเตือนได้อีกว่า ลูกค้าจะให้ไปส่งวันไหน เมื่อไร เพราะการส่งเป็น lot แบบนี้ ถ้าเราเก็บข้อมูลไม่ดี ไม่มีการติดตาม เมื่อลูกค้าติดต่อเข้ามาแล้ว เราส่งให้ไม่ได้ เขาก็อาจจะไปซื้อจากที่อื่น และยกเลิกการซื้อขายกับเราต่อไปเลยก็ได้”

Sales CRM กับการวางกลยุทธ์ธุรกิจ

Sales CRM ไม่เพียงจัดการงานขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังช่วยในการวางแผนกลยุทธ์ด้วย โดยในการขาย กลุ่มลูกค้าถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ลูกค้าซื้อซ้ำ 2. ลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยซื้อสินค้ามาก่อน และ 3. ลูกค้าใหม่ ที่เคยซื้อสินค้าแล้วแต่หายไป คุณสาโรจน์ ยกตัวอย่างว่า สมมติกำหนดกลุ่มลูกค้าเดิม ลูกค้าใหม่ และลูกค้าที่กลับมา สัดส่วนเป็น 70 : 15 : 15 แล้วกำหนดเป้าหมายให้เซลล์ขายลูกค้าใหม่ให้ได้ตามอัตรา พร้อมรักษาลูกค้าเดิมไว้ให้เหนียวแน่น หากไม่ใช้โซลูชั่น Sales CRM เซลล์ก็อาจจะไม่กระตือรือร้นที่จะติดต่อลูกค้าใหม่ เพราะยาก อาจบอกว่าติดต่อไปแล้วไม่สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ติดต่อ แต่ระบบ Sales CRM สามารถบอกได้ว่าเซลล์ติดต่อไปแล้วจริงหรือไม่

ในอีกมุมหนึ่ง สินค้าที่องค์กรผลิตเองจะขายได้กำไรมากกว่าสินค้าที่นำเข้า แต่จะขายยากกว่า ผู้บริหารก็สามารถมอบหมายให้เซลล์เสนอสินค้าขององค์กรเองด้วย โดยใช้ Sales CRM กำกับว่าพนักงานได้ปฏิบัติตามนโยบบายหรือไม่ เนื่องจาก ถ้าเซลล์เสนอขาย มีโอกาสที่จะขายได้ 50:50 แต่ถ้าไม่เสนอเลย ก็เท่ากับ 0 ทั้งนี้การขายของที่ผลิตเอง ขายยาก เซลล์จึงไม่นิยมเชียร์อัพสินค้า นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมควรใช้ Sales CRM

แล้ว Sales CRM ช่วยในการวางกลยุทธ์ได้อย่างไร วิธีคือ หากองค์กรตั้งเป้าว่าปีนี้ต้องการกำไร 100 ล้านบาท วิธีที่จะทำได้ คือ ต้องสร้างนวัตกรรมและผลิตสินค้าของตัวเอง ดังนั้นเมื่อได้โจทย์แล้วก็สามารถวางแผน กำหนดกลยุทธ์การขายได้โดยการกำกับเซลล์ให้ขยันเชียร์อัพสินค้าที่เป็นนวัตกรรมของบริษัท และนำข้อมูลจาก Sales CRM มาประยุกต์ใช้

การ implement Sales CRM Solutions และความท้าทาย
สำหรับการ implement Sales CRM คุณสาโรจน์ กล่าวว่า อยู่ที่ความเข้าใจของผู้ใช้ ซึ่งผู้ใช้แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ 1. เจ้าของธุรกิจ 2. ผู้บริหาร และ 3. พนักงาน (เซลล์)

“ผมมองว่าเจ้าของธุรกิจชอบอยู่แล้ว ถ้าจะไม่ชอบก็คงเป็นเรื่องที่ต้องเสียงบประมาณซื้อโซลูชั่น แต่อย่างไรก็ตาม จากประโยชน์ของ Sales CRM ก็ถือว่าคุ้ม ส่วนผู้บริหาร 99% ชอบอยู่แล้ว เพราะเห็น DATA มีข้อมูลในการตัดสินใจวางกลยุทธ์ธุรกิจ”

“ตัดภาพมาที่เซลล์ มี 2 มุม คือ กลุ่มที่เคยมีชีวิตอิสระเลือกขายเฉพาะลูกค้าที่คุยง่าย ชอบอ้างงานแต่ออกไปทำธุระส่วนตัว กลุ่มนี้อาจจะไม่ชอบ เพราะจะถูกระบบ Track ว่าไปจริงหรือไม่ คุยอะไรกับลูกค้าบ้าง ส่วนอีกกลุ่ม ก็จะชอบที่ทำงานง่ายขึ้น เพราะระบบตัวนี้จะช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายกว่า ด้วยฟังก์ชัน Auto Lead ที่ช่วยให้การติดต่อจากลูกค้าเข้ามาถึงตัวเซลล์ได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านใคร เพิ่มโอกาสการสร้าง Commission ได้มากกว่าเดิม”

จากเหตุผลข้างต้น ดังนั้นก่อนจะ Implement Sales CRM เจ้าของธุรกิจจึงต้องสร้างความเข้าใจกับพนักงานก่อน โดยคุณสาโรจน์ กล่าวว่า “แพลตฟอร์มนี้ คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ”

ส่วนองค์กรขนาดใดบ้างที่ควรใช้ Sales CRM ก็เหมือนประโยคสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ คือ หากธุรกิจไม่มีการส่งเซลล์ไปขายสินค้า ก็ไม่จำเป็นก็ได้ ในทางกลับกันแม้เป็น SME แต่หัวใจของธุรกิจ คือ การส่งเซลล์ไปเสนอสินค้า Sales CRM ก็มีความจำเป็น

เป้าหมายในอนาคต
สำหรับเป้าหมายในอนาคตของ Wisible คุณสาโรจน์ ตอบอย่างมั่นใจว่า “โซลูชั่น Sales CRM กว่า 99% ที่ใช้ในประเทศไทย พัฒนาโดยต่างชาติ ดังนั้นผมจึงอยากเป็น Sales CRM สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่สามารถครองใจชาวไทย เอาชนะคู่แข่งเจ้าใหญ่ ๆ ได้ นี่คือ Mission ที่วางไว้ครับ คิดดูเขายังนำโซลูชั่นมาบุกบ้านเราได้เลย แล้วทำไมเราจะไปบุกบ้านเขาไม่ได้ ปัจจุบันเราก็ชนะมาหลายเจ้าแล้ว”

“นอกจากนี้ก็จะพัฒนาโซลูชั่น Sales CRM เวอร์ชันที่ Friendly ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เหมาะกับทุกองค์กรด้วยครับ”

จากประเด็นสัมภาษณ์ Sales CRM แม้จะหนักไปทางธุรกิจ B2B แต่ในหลักปฏิบัตินั้นองค์กรขนาดเล็ก หรือ B2C สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดและใส่ใจ สามารถช่วยอุดรอยรั่วธุรกิจ และนำพาไปสู่ความยั่งยืนได้

ช่องทางการติดต่อ Wisible
Website: https://www.wisible.com/th/
E-mail: support@wisible.com
Facebook: https://www.facebook.com/Wisiblecrm
Tel.: 02-106-9744

********

RECOMMEND