หน้างานการผลิตหลายแห่งยังคงใช้เอกสารกระดาษกันอยู่ แม้จะนำระบบต่าง ๆ เข้ามาใช้ แต่ก็มักยังต้องกรอกป้อนข้อมูลแบบแอนะล็อก (กรอกข้อมูลด้วยมือ) ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยทั้งในญี่ปุ่นและไทย เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว บริษัท CIMTOPS (สำนักงานใหญ่ในโตเกียว: CIMTOPS Corporation) จึงได้พัฒนาและนำเสนอซอฟต์แวร์แปลงเอกสารเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ชื่อ “i-Reporter” ขึ้น โดยความโดดเด่นของซอฟต์แวร์นี้ คือ ใช้งานง่าย และมีฟังก์ชันหลากหลาย ปัจจุบันได้รับความไว้วางใจนำไปใช้งานจากบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 4,000 แห่ง!
ในประเทศไทย CIMTOPS ได้ให้บริการผ่านตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง และในเดือนตุลาคมปีนี้ ก็ได้เปิดสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยอย่างเป็นทางการตามแผนที่ตั้งใจไว้ และเริ่มต้นโครงสร้างการดำเนินงานใหม่ “เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น” นี่คือข้อมูลจากที่มีโอกาสได้สัมภาษณ์ Mr. Hiroyuki Numata, Head of Representative Office และ Ms. Sayaka Oide, General Manager of Global Sales & Marketing Group
■เปิดสำนักงานตัวแทนในไทยวันเดียวกับวันครบรอบ 34 ปีของการก่อตั้งบริษัท
CIMTOPS ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 และสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยที่มุ่งเน้นการสนับสนุนด้านการขายเป็นหลักก็ได้เปิดตัวขึ้นในวันที่ 1 เดือนตุลาคมของปีนี้เช่นกัน โดยสำนักงานในไทยเป็นการขยายต่อจากฐานการพัฒนาที่สิงคโปร์
Mr. Hiroyuki Numata ผู้จัดการสำนักงานตัวแทน คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย IT ที่มีประสบการณ์การทำงานกับบริษัทซอฟต์แวร์ SaaS มากว่า 6 ปีในสิงคโปร์และอีก 2 ปีในประเทศไทย ด้วยประสบการณ์ที่โดดเด่นนี้ เขาจึงได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้จัดการสำนักงานรุ่นแรก
i-Reporter เป็นที่รู้จักในด้านการบันทึกข้อมูลหน้างานและการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมา ตัวแทนจำหน่ายในท้องถิ่นได้ทำการนำเสนอและขายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า ด้านการสนับสนุนทางเทคนิค บริษัทได้มุ่งเน้นเสริมความแข็งแกร่งให้กับตัวแทนจำหน่าย เพื่อให้พนักงานในท้องถิ่นสามารถให้บริการด้านเทคนิคแก่ลูกค้าชาวไทยเป็นภาษาไทยได้ แม้ว่าทางสำนักงานใหญ่ในญี่ปุ่นจะส่งทีมมาสนับสนุนการทำงานในประเทศไทยทุก 3 เดือน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านเวลาและภาษา ทำให้มีขอบเขตที่จำกัดในด้านการสนับสนุน ซึ่งปัญหานี้เป็นสิ่งที่สร้างความกังวลใจมาโดยตลอด
แม้ว่าจะมีบริษัทหลายแห่งในญี่ปุ่นที่จำหน่ายซอฟต์แวร์สำหรับแปลงเอกสารเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเดียวกัน แต่หลายบริษัทกลับลังเลที่จะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เนื่องจากอุปสรรคด้านภาษาและข้อจำกัดในการให้บริการ ส่งผลให้หลายบริษัทต้องล้มเลิกแผนการขยายตัว
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ บริษัท CIMTOPS ยังคงยืนหยัดในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เพราะการผลิตข้ามพรมแดนจึงทำให้ก้าวสู่ระดับสากล อีกทั้งค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นและปัญหาอัตราการเกิดต่ำในบางประเทศ ทำให้หาคนทำงานยากขึ้น บริษัทจึงมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงงานการผลิตทั่วโลก และช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต
■การเปิดสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยมีความสำคัญอย่างยิ่ง
“การเปิดสำนักงานตัวแทนในประเทศไทย ไม่เพียงแต่มีความสำคัญสำหรับบริษัทเราเท่านั้น แต่ถือเป็นก้าวสำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก” Mr. Hiroyuki Numata กล่าว และอธิบายอย่างเน้นย้ำว่า การที่บริษัทผู้พัฒนามาอยู่ใกล้กับตัวแทนจำหน่ายและผู้ใช้งานโดยตรง “จะช่วยเพิ่มความไว้วางใจ และความรู้สึกอุ่นใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างมาก”
การมีสำนักงานท้องถิ่นทำให้สามารถถ่ายทอดทักษะให้กับบริษัทพันธมิตรที่เป็นตัวแทนจำหน่ายได้แบบพบปะกันโดยตรงทุกวัน อีกทั้งยังสามารถติดตามไปเยี่ยมลูกค้าที่เป็นผู้ใช้งานปลายทางได้ด้วย ซึ่งช่วยให้บริษัทเข้าใจความต้องการเฉพาะตัวและปัญหาที่ซ่อนอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งแตกต่างจากการทำงานแบบการเดินทางเป็นครั้งคราว จึงคาดว่าจะเกิดประสิทธิผลในหลายด้าน
แน่นอนว่าเป้าหมายในระยะยาวคือการจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยอย่างเป็นทางการและขยายธุรกิจต่อไป Mr. Numata เผยว่า “การพัฒนาไปถึงจุดนั้นคือภารกิจที่ผมได้รับมอบหมายให้ทำให้สำเร็จ” หากสำนักงานในประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ก็จะสามารถขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังเติบโตจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะร่วมมือกับบริษัทย่อยในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ที่ก่อตั้งในปี 2554 และศูนย์พัฒนาที่สิงคโปร์ เพื่อผลักดันการขยายธุรกิจในต่างประเทศต่อไป
ในตลาดใกล้เคียง เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย ขณะนี้ได้มีตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่แล้ว และการขาย i-Reporter ก็กำลังขยายตัวอย่างเป็นไปได้ด้วยดี Mr. Numata กล่าวว่า “การที่เราตั้งอยู่ใกล้กับประเทศเหล่านี้ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทพันธมิตรในท้องถิ่น ซึ่งส่งผลดีอย่างมหาศาล” อนาคตที่ CIMTOPS วาดฝันไว้คือการขยายธุรกิจจากศูนย์กลางในประเทศไทย ครอบคลุมตั้งแต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงเอเชียใต้นั่นเอง
■พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงความสะดวกของการใช้งานที่หน้างานเป็นสำคัญ
ผลิตภัณฑ์ของ CIMTOPS เริ่มเข้าสู่ตลาดการผลิตในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2559 ในช่วงเวลานั้น ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้เอกสารกระดาษในหน้างานปรากฏเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดความต้องการในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลิตภัณฑ์แรกที่ได้รับการตอบรับอย่างดี คือ i-Reporter Ms. Sayaka Oide หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์สากลจากสำนักงานใหญ่ในญี่ปุ่น ยังคงจำช่วงเวลานั้นได้ดี เธอกล่าวว่า “ในขณะนั้น ประเทศไทยกำลังผลักดันโครงการ Industry 4.0 ภายใต้การนำของรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้วิธีการผลิตเริ่มเปลี่ยนแปลงไปโดยเริ่มจากหน้างาน”
i-Reporter ได้รับการชื่นชมอย่างมากในด้านการใช้งานที่ง่าย สามารถปรับแต่งได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องมีความรู้เฉพาะทาง Ms. Sayaka Oide อธิบายว่า “เราพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับความสะดวกในการใช้งานในหน้างานเป็นอันดับแรกมาโดยตลอด” เธอยังกล่าวเสริมว่า CIMTOPS ไม่ใช่เพียงบริษัท IT ธรรมดา แต่เป็นผู้ผลิตโซลูชันที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงในหน้างาน นี่คือบทบาทที่ Ms. Sayaka Oide และทีมของเธอตั้งเป้าหมายให้บริษัทก้าวไปให้ถึง
ปัจจุบัน i-Reporter ได้ถูกนำไปใช้แล้วใน 16 ประเทศทั่วโลก นอกเหนือจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังรวมถึงประเทศในเอเชียอย่าง อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศในตะวันออกกลาง เช่น จอร์แดน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนืออย่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก การเปิดสำนักงานพนักงานประจำการในประเทศไทยถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่บริษัทจะใช้ในการดำเนินกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในอนาคต
Ms. Sayaka Oide กล่าวว่า “งาน DigiTech ASEAN Thailand ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นงานแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลแบบครบวงจรที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ เราต้องการสื่อให้เห็นว่าการแปลงข้อมูลหน้างานให้เป็นระบบดิจิทัลสามารถช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานได้มากเพียงใด”
ทางบริษัท CIMTOPS ตั้งใจที่จะนำเสนอโซลูชันที่เป็นรูปธรรม สามารถมองเห็นได้จริง เพื่อเป็นแรงจูงใจและปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจนำไปใช้งานของลูกค้า การเปิดตัว “ครั้งที่ 2 ของ CIMTOPS ในประเทศไทย” กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว
Related Articles