Smart Factory

26.07.2024

【Manufacturing Tech】Carbon Footprint มากกว่าเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เร่งทำความเข้าใจก่อนตกขบวน

เมื่อเอ่ยถึงประโยชน์ของการลดก๊าซเรือนกระจก บางท่านอาจมองเพียงว่า ได้ช่วยชะลอภาวะโลกรวน (Climate Change) ตลอดจนสิทธิประโยชน์ตามนโยบายรัฐบาล และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร แต่สำหรับ ดร. ชานนท์ วินิจชีวิต Co-Founder www.smartgreeny.com ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์และขององค์กร และผู้ให้บริการ Carbon Footprint Software Solutions มองว่า มีผลต่อธุรกิจ และโอกาสทางการค้าเป็นอย่างสูง เพราะสถานการณ์โลกจะให้ความสำคัญกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประชาคมโลก (National Determined Contribution – NDC) ฉะนั้นการลดก๊าซเรือนกระจก จึงไม่ใช่แค่ประหยัดพลังงาน หรือปลูกต้นไม้ แต่ต้องคำนวณค่า Carbon Footprint ออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจนอีกด้วย

“เกี่ยวกับ Carbon Footprint ปัจจุบันผู้ประกอบการ ชะล่าใจไปหน่อย ทั้ง ๆ ที่ หากมีการประกาศกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมาเล็กน้อย จะเกิดผลกระทบมหาศาลเลยทีเดียว เช่น เมื่อ พ.ศ. 2566 ทางฝั่งยุโรป ได้ออกมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) คือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป กับสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย อลูมิเนียม และไฮโดรเจน โดยจะบังคับใช้ใน ปี 2568 แต่ ณ ตอนประกาศผู้ประกอบการหลายแห่งกลับนิ่งเฉย ทั้ง ๆ ที่หากไม่มีการคำนวณ Carbon Footprint ออกมาเป็นตัวเลขชัดเจน จะไม่สามารถส่งสินค้าเข้ายุโรปได้ ซึ่งตลาดของไทยเป็นยุโรปถึง 90% และขั้นตอนการคำนวณก็มีรายละเอียดมาก”

เมื่อยกความสำคัญของการวัดค่า Carbon Footprint ในด้านธุรกิจแล้ว ดร. ชานนท์ ได้เผยถึงผลลัพธ์ของการนิ่งเฉยจากกรณีข้างต้นว่า เมื่อเส้นบังคับใช้มาตรการ CBAM ใกล้เข้ามา หลายองค์กรจึงเพิ่งตระหนัก และเร่งติดตั้งโซลูชั่นวัดค่ากัน ซึ่งเป็นแรงกดดันมหาศาลในการทำงานอย่างยิ่ง ฉะนั้นจึงควรให้ความสำคัญตั้งแต่เนิ่น ๆ

“คนส่วนใหญ่มักมองว่าการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นเรื่องของ Marketing จึงเน้นไปที่สำนักงานสีเขียว รักษ์โลก แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะต่อไปจะมีกฎหมายออกมาแน่นอน ฉะนั้นจะยุ่งยากมากหากเตรียมตัวช้าเกินไป” ดร. ชานนท์ ย้ำ

Carbon Footprint คืออะไร? สำคัญอย่างไรกับการลดก๊าซเรือนกระจก
Carbon Footprint คือ จำนวนคาร์บอนที่ปล่อยในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งวัฏจักร เช่น โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องตั้งแต่ชิ้นส่วน, ขนส่ง, ประกอบ กระทั่งเสร็จสมบูรณ์ เกิดคาร์บอนเท่าไร เป็นต้น

ดร. ชานนท์ กล่าวว่า Carbon Footprint มีหลายรูปแบบ แต่ในประเทศไทยนิยมใช้ 2 แบบใหญ่ ๆ ได้แก่

1. Carbon Footprint for Organization หรือ CFO เป็นการคำนวณว่าใน 1 ปี องค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปเท่าไร

2. Carbon Footprint for Product หรือ CFP เป็นการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากตัวผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

สำหรับความสำคัญของ Carbon Footprint ต่อการลดก๊าซเรือนกระจก คือ เมื่อทราบปริมาณการปล่อยคาร์บอนในแต่ละกระบวนการแล้ว องค์กรสามารถหาวิธีลดลงได้ เช่น การผลิตโทรศัพท์มือถือ เดิมใช้ชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ซึ่งต้องปล่อยคาร์บอนจากการขนส่งสูง เพราะไกล ก็สามารถใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศที่คุณภาพเท่ากันได้ จะช่วยลดคาร์บอนได้ เพราะระยะทางขนส่งใกล้กว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า เป็นต้น

ทำไมอุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญกับ Carbon Footprint
ดร. ชานนท์ กล่าวว่า เพราะต่อไปอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต้องรายงานค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อ สาธารณะ สาเหตุที่บังคับองค์กรขนาดใหญ่ เนื่องจาก องค์กรเหล่านี้มี Supplier เจ้าเล็กหลายเจ้า เมื่อองค์กรใหญ่ใส่ใจเรื่อง Carbon Footprint ก็จะส่งผลให้องค์กรเล็กเห็นความสำคัญตามไปด้วย

สำหรับการลดก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันมีนิยาม 3 ศัพท์ ได้แก่

Low Carbon คือ การหาวิธีลดคาร์บอน เช่น ผลิตสินค้า A ปล่อยคาร์บอนไป 100 หน่วย ก็พยายามหาวิธีให้ปล่อยน้อยลง จากเดิม 100 เหลือ 80 เป็นต้น ซึ่งวิธีก็อาจมาจากพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือสนับสนุนให้ Supplier ให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอน ฯลฯ

Carbon Neutral เป็นการหักล้างคาร์บอน ให้เป็นศูนย์ คือ หากองค์กรไม่สามารถลดก๊าซเรือนกรระจกได้ ก็ไปซื้อสิทธิ์จากหน่วยงานอื่นมาหักล้าง

ดร. ชานนท์ ได้นิยามการหักล้างไว้อย่างน่าสนใจว่า เปรียบอุตสาหกรรมเป็นดั่งผู้ร้าย เพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยกให้องค์กรที่ปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซค์เป็นพระเอก ฉะนั้น เมื่อผู้ร้ายต้องการเป็นคนดี ก็ต้องชุบตัว ด้วยการไปซื้อสิทธิ์ ที่เรียกว่า คาร์บอน เครดิต (Carbon Credit) ของพระเอก เพื่อมาลบล้างก๊าซเรือนกระจกของตัวเอง

สรุป คือ หากองค์กรไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ ก็สามารถไปซื้อ คาร์บอน เครดิต มาหักล้างแทน แต่ถ้ามองว่า การซื้อสิทธิ์อย่างนี้ ไม่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมลดคาร์บอนเอง ต้องชวนมองในประเด็นที่ว่า การซื้อสิทธิ์ คือ ต้นทุน ฉะนั้นองค์กรที่ซื้อ คาร์บอน เครดิต ย่อมหาวิธีลดด้วยตัวเองเช่นกัน

Net Zero คือ การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ มองแล้วอาจคล้าย Carbon Neutral แต่ไม่เหมือนกัน เพราะ Net Zero ไม่ต้องไปซื้อสิทธิ์จากใคร แต่เป็นการสร้างตัวหักล้างขึ้นมาเอง เช่น ปลูกป่าของตัวเอง ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาโรงงาน ฯลฯ ฉะนั้นเมื่อโรงงานปล่อยคาร์บอนออกมา ก็จะลบกับตัวหักล้างที่สร้างเองในทันที จึงเท่ากับ 0

นอกจากนี้ ดร. ชานนท์ ย้ำถึงความสำคัญว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ลงนามลดก๊าซเรือนกระจกกับประชาคมโลก โดยมีเป้าหมาย เป็น Carbon Neutral ในปี 2050 และ Net Zero ภายในปี 2065 ฉะนั้น Carbon Footprint จึงไม่ใช่กระแส แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ

ทุกวันนี้ธนาคารเองก็มีเรื่องของ Green Loan คือ กู้เงินสีเขียว เป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ทำเกี่ยวกับคาร์บอนกู้เงินได้ง่ายขึ้น ดอกเบี้ยดีขึ้นแล้ว

Smartgreeny ผู้ช่วยที่ทำให้ Carbon Footprint เป็นเรื่องง่าย
การคำนวณ Carbon Footprint ซับซ้อน มีสมการที่ไม่ตายตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะคำนวณทุกกระบวนการ ตั้งแต่ การได้มาซึ่งวัสดุ กระบวนการผลิต ตลอดจนการขนส่ง และงานวิจัย ฉะนั้นการวัดค่าที่แม่นยำจึงต้องพึ่งโซลูชั่นอัจฉริยะ และที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญ ความแม่นยำของการคำนวณ จะช่วยให้องค์กรลดคาร์บอนได้ถูกจุด

ดร. ชานนท์ ยกตัวอย่างว่า “วิธีคำนวณไม่ใช่อยู่ ๆ ก็จะทราบได้ เพราะมีส่วนของวัตถุดิบ ส่วนของการกำจัดของเสีย การขนส่ง และอื่น ๆ ”

“บางอุตสาหกรรม ที่เป็นการผลิตแบบประกอบชิ้นส่วน จะสังเกตเห็นว่า ส่วนที่คาร์บอนปล่อยมากที่สุด คือ วัตถุดิบ ไม่ใช่การผลิต เพราะต้องใช้วัตถุดิบเยอะ ฉะนั้นหากจะลดคาร์บอน ก็ต้องไปเจรจากับ supplier ให้ร่วมลดคาร์บอน”

“หรืออย่างกรณีล่าสุด อุตสาหกรรมหนึ่งมีสาเหตุการปล่อยคาร์บอนสูงจากวัตถุดิบที่ขนส่งมาจากต่างประเทศ ชิ้นส่วนมาลงสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วต่อรถจากสุวรรณภูมิ มาถึงโรงงาน ซึ่งเกิดคาร์บอนสูงมาก จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการพิจารณา supplier ภายในประเทศ เป็นต้น”

ฉะนั้นต้องไปดูว่า ส่วนไหนเป็นจุดอ่อน แล้วไปแก้จุดนั้น แต่บางอย่างต้องใช้ทุนสูง ก็ไปทำในสิ่งที่ทำได้ เช่น ในเชิงนโยบาย ซึ่งทั้งหมด Smartgreeny ช่วยได้

ทั้งนี้นอกจากปัจจัยที่ยกมาข้างต้น ยังมีสมการที่เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ ในการคำนวณ นั่นคือ งานวิจัยจาก MTEC (ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ) เพราะค่าวัดการปล่อยคาร์บอนของวัสดุ ณ วันนี้เป็นค่าหนึ่ง แต่อีก 6 เดือนข้างหน้า อาจเป็นค่าอื่น ฉะนั้นโซลูชั่น Smartgreeny จะคอยอัพเดทข้อมูลให้เสมอ จึงทำให้แม่นยำ และทันสถานการณ์

เริ่มต้นใช้งาน Smartgreeny อย่างไร?
ดร. ชานนท์ บอกว่า ก่อนอื่นต้องดูว่า องค์กรมีเป้าหมายอะไร Low Carbon, Carbon Neutral หรือ Net Zero เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญประยุกต์โซลูชั่นได้ตรงตามความต้องการ

นอกจากเป้าหมายแล้ว ประเด็นต่อมาต้องดูว่าอุตสาหกรรมทำอะไร เช่น แปรรูปปลาอยู่สมุทรสาคร กับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อยู่ที่ระยอง แม้หลักการคำนวณจะอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน แต่โซลูชั่นต่างกัน เพราะปลากับชิ้นส่วนรถยนต์เป็นคนละประเภท ซอฟแวร์จึงต้องต่างกัน ฉะนั้นจึงต้องเข้าไปจับว่า บริษัทไหนควรใช้ตัวไหน เพราะถ้าคุณขายอาหารทะเลแล้วนำของรถยนต์ไปใช้ ย่อมไม่เหมาะ เนื่องจากมี Type ของกลุ่มอุตสาหกรรมอยู่ ฉะนั้นการเริ่มต้นที่ดี ควรเริ่มจากการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

เป้าหมายในอนาคตของ Smartgreeny
ดร. ชานนท์ ตั้งเป้าหมายไว้ว่า เพราะดิจิทัลเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นจึงต้องทำตัวให้ Advance เสมอ ประยุกต์อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งประสิทธิภาพของโซลูชั่นที่ต้องเร็วขึ้น น่าใช้ขึ้น ใช้งานง่ายขึ้น เหมาะสมกับยุคสมัย

ท้ายนี้ ดร. ชานนท์ ย้ำว่า ไม่อยากให้มองเรื่อง Carbon Footprint เป็นเรื่องของการทำ CSR เมื่อก่อนทำ 3R อย่าง Reduce Reuse Recycle ก็อาจเป็นลดโลกร้อนได้ แต่ถ้าทำแค่วันเดียวล่ะ แล้วไปโปรโมทว่า มีการรีไซเคิล ช่วยลดโลกร้อน ซึ่งความจริง มันเป็นนามธรรม เพราะไม่สามารถวัดค่าได้ หรือไปปลูกต้นไม้ 2 ต้น แล้วบอกช่วยลดโลกร้อน ถามว่าลดเท่าไร ต้นไม้ประเภทอะไร อายุเท่าไร ดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไร

แต่ Carbon Footprint วัดได้ บอกได้เลย องค์กรปล่อยออกไปเท่าไหร่ 70, 80 หรือ 100 เห็นชัดเจน ฉะนั้นในอนาคตโอกาสทางธุรกิจ คู่ค้าจะไม่ใช่แค่ถามว่าทำอะไรเกี่ยวกับลดโลกร้อน แต่จะดูตัวเลข Carbon Footprint เพื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องคำโฆษณา ไม่ใช่เรื่อง Marketing แต่เป็นเรื่องที่บอกว่า คุณจะอยู่กับอุตสาหกรรมบนโลกใบนี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งจะเน้นในเรื่องกฎหมายค่อนข้างเยอะขึ้น หมายความว่าคุณมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ หรืออย่างน้อยต้องเข้าใจการคำนวณ Carbon Footprint หนีไม่ได้จริง ๆ ครับ” ดร. ชานนท์กล่าวทิ้งท้าย

********

RECOMMEND