เทคโนโลยี 3D Printing ในทางการแพทย์
บริษัท Septillion ก่อตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2013 ปัจจุบันเปิดให้บริการ 2 สาขา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และชลบุรี ธุรกิจเป็นการจำหน่าย และให้บริการด้าน 3D Printing มาตั้งแต่ต้น เมื่อถามถึงบทบาทของเทคโนโลยีนี้ในวงการแพทย์ ก็ได้รับคำตอบจากคุณวรวรรธน์ ว่า
“ลูกค้าทางด้านการแพทย์ของเรา ส่วนมากเป็นสาขาทันตกรรม มีหลายจุดประสงค์เพื่อนำไปใช้งานในด้านทันตกรรม ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ช่วยผลิต อุปกรณ์จัดฟันใส โมเดลทันตกรรมต่าง ๆ ซึ่งต้องผลิตตามลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล และผลิตเป็นจำนวนมาก เพราะมีทั้งฟันบนฟันล่าง และมีการกำหนดความถี่ของการเปลี่ยน รวมไปถึงสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัย ที่พริ้นต์ตัวอย่างอวัยวะมาใช้สอนนักศึกษา และทีมแพทย์ซึ่งจำเป็นต้องใช้ชิ้นงานมาประชุมวางแผนการรักษา”
พร้อมกันนี้ คุณวรวรรธน์ ยังยกงานวิจัยที่เผยให้เห็นบทบาทของเทคโนโลยี 3D Printing ในภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบ โดยเทคโนโลยี 3D Printing ถูกใช้ในงานด้านวิศวกรรม 40% ทางการแพทย์ 30% และงานด้านศิลปะ 30% นั่นแสดงว่าเทคโนโลยี 3D Printing ถูกใช้ในทางการแพทย์ในอัตราที่สูงเลยทีเดียว
สำหรับรูปแบบที่ 3D Printing เข้ามามีบทบาทอย่างมากในทางการแพทย์ ประกอบด้วย การพริ้นต์เพื่อศึกษาวิจัย ฟันปลอม และอวัยวะเทียม
ทั้งนี้ คุณวรวรรธน์ ได้ยืนยันด้วยประสบการณ์บริการลูกค้าทางการแพทย์ประกอบว่า “ในส่วนของทางการแพทย์ มีพริ้นต์กระดูกเทียม กะโหลกเทียม พริ้นต์ออกมาด้วยไททาเนียม เอาไว้ใช้กรณีผ่าตัดคนไข้กระดูกแตกกะโหลกแตก แล้วต้องทำชิ้นส่วนกะโหลกเทียมขึ้นมาใหม่ครับ”
ด้วยข้อดีของเทคโนโลยี 3D Printing ที่สามารถพริ้นต์ได้หลายมิติ คุณวรวรรธน์ ขยายความให้เห็นภาพ ด้วยการยกตัวอย่าง พริ้นต์โมเดลลูกฟุตบอล ที่มีฟุตบอลลูกเล็กอยู่ข้างในอีกชั้น หากเป็นการขึ้นรูประบบหักลบ ที่นำวัสดุ 1 ชิ้น มาสกัด (คล้ายการแกะสลัก) ก็จะทำไม่ได้ หรือยาก แต่ระบบ 3D Printing สามารถทำได้โดยง่าย เพราะขึ้นรูปทีละชั้น ดังนั้นจึงเหมาะต่อการพริ้นต์อวัยวะเทียม ที่มีความซับซ้อน เช่น กระดูก ที่ไม่ใช่กระดูกตัน ๆ เพราะภายในกระดูกมีช่องว่างภายในอยู่ด้วย
Septillion กับหน้าที่ “ที่ปรึกษา”
คุณวรวรรธน์กล่าวว่านอกจากจำหน่ายเครื่องมือ 3D Printing แล้ว Septillion มีให้คำปรึกษาการใช้งาน และบริการพิมพ์ 3 มิติ เพราะแม้เทคโนโลยีนี้จะมีมานาน แต่เพิ่งแพร่หลาย จึงถือเป็นของใหม่ โดยทั้งนี้ยังมีบทบาทร่วมวิจัยเทคโนโลยี 3D Printing กับ หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมวงการพิมพ์ 3 มิติของประเทศไทย และสอนการใช้งาน รวมทั้งให้คำปรึกษากับองค์กรทางการแพทย์อีกด้วย โดยคุณวรวรรธน์ อธิบายสั้น ๆ ทว่าครอบคลุมดังนี้
“ในไทยเรามีลูกค้าของทางบริษัท ให้บริการด้านการแพทย์อยู่ เพราะว่าเหตุผล คือ แพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนออกแบบมา แพทย์มีหน้าที่ผ่าตัด รักษาคนไข้ ส่วนวิศวกรส่วนใหญ่ไม่เคยเรียนออกแบบโครงสร้างมนุษย์ และอวัยวะของมนุษย์มา ลูกค้ารายนี้ก็เลย เป็นการรวมตัวกันระหว่างแพทย์กับวิศวะ ผลิตอวัยวะเทียมจากไททาเนียมร่วมกัน แล้วนอกจากนี้ หลายมหาวิทยาลัยก็เริ่มมีคณะที่เป็น BIO ENGINEERING ออกมาด้วย เป็นกึ่งวิศวะกึ่งแพทย์มารวมกันก็จะมีหลักสูตรใหม่ขึ้นมา”
ความแตกต่างระหว่าง 3D Printing ทางการแพทย์ กับสาขาอื่น
แน่นอนว่าการพริ้นต์อวัยวะเทียมซึ่งต้องใช้กับร่างกายของมนุษย์ จำเป็นต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ข้อนี้ คุณวรวรรธน์ อธิบายว่า
“งานด้านนี้มีสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยามาควบคุมด้วยครับ ไม่ใช่ว่าพริ้นต์ออกมาแล้วใช้ได้เลย ต้องมีการขออนุญาต ซึ่งหน่วยงานที่กำกับเขาจะตรวจตั้งแต่ซอฟต์แวร์ ว่าถูกต้องหรือไม่ วัสดุที่ใช้ก็ต้องตรวจสอบว่าผลิตมาตอนไหน นัมเบอร์อะไร ตั้งแต่ต้นน้ำเลยครับ อีกทั้งยังต้องทดสอบ และผ่านการฆ่าเชื้อต่าง ๆ เรื่องนี้ต้องถูกต้องตามมาตรฐานต่าง ๆ ดังนั้นปลอดภัยแน่นอน”
คุณวรวรรธน์ เสริมเรื่องข้อดีของเทคโนโลยี 3D Printing ด้านการแพทย์ว่า เมื่อเทคโนโลยีนี้เข้าถึงง่ายขึ้น ประเทศไทยก็สามารถสร้างชิ้นงานให้เหมาะกับสรีระคนไทยได้มากขึ้น
“ในอดีตชิ้นงาน 3D Printing ทางการแพทย์จะมีมาตรฐานค่อนข้างตายตัว เพราะผู้ผลิตจะเป็นทางฝั่งอเมริกา หรือยุโรป ดังนั้นไซส์อวัยวะเทียมขนาดก็จะอ้างอิงกับทางยุโรป เมื่อเอามาใช้กับคนเอเชียอย่างเรา หลายครั้งก็จะมีขนาดใหญ่เกินไป แต่พอเราสร้างชิ้นงานจากเทคโนโลยี 3D Printing ได้เอง ชิ้นงานที่ได้ออกมาก็จะตอบโจทย์มากกว่าครับ”
สรุป
และนี่คือบทบาทของ 3D Printing ทางการแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างง่ายดายมากขึ้น มีความสะดวกกว่าในอดีต และเหมาะกับสรีระคนไทยจริง ๆ ในอนาคตจะพัฒนาก้าวกระโดดเพียงใด ถือเป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไป
*********