Construction Tech

Digital

02.04.2024

【Construction DX】BIM เทคโนโลยีที่ทำให้งานก่อสร้างกลายเป็นเรื่องง่าย

สำหรับงาน ICHI Construction DX Seminar ที่จะจัดขึ้นในช่วงหลังสงกรานต์นี้ ทีมงาน ICHI media ได้รับเกียรติจาก คุณพงศ์พันธ์ สุธิชัย Virtual Design and Construction Manager และคุณอัครริน สมกิจรุ่งโรจน์ BIM & Application Design Manager จาก CPAC Green Solution มาบรรยายในช่วง Key Session เพื่อให้ความรู้ และแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับ BIM เทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง ซึ่งกำลังใช้งานจริงในโครงการก่อสร้างหลายแห่ง

ทำความรู้จัก BIM
ปัญหาใหญ่ของการก่อสร้าง คือ แบบและหน้างานมักไม่ตรงกัน เช่น ก่อสร้างคอนโดมิเนียมระบุว่ามีระเบียงหลังห้อง ทว่าเมื่อทำงานจริง ในแบบไม่ได้เขียนไว้ว่าต้องเจาะช่องประตูไว้ ดังนั้นเมื่องานออกมา ปรากฏว่ามีระเบียง แต่ไม่มีประตูทางออกไปสู่ระเบียง หรือห้องน้ำที่เปิดประตูชนกับโถสุขภัณฑ์ เหตุเพราะช่างมองแบบที่เขียนไว้คลาดเคลื่อน ปัญหาเหล่านี้ก่อให้เกิดความล่าช้าของการก่อสร้าง และเพิ่มต้นทุน เพราะต้องแก้ไขใหม่ หรือบางครั้งอาจถึงขั้นต้องทุบรื้อทำใหม่กันเลยทีเดียว

ปัญหาข้างต้นมักเกิดจากการเขียนแบบ 2 มิติด้วยมือ ซึ่งผู้เขียนต้องอาศัยจินตนาการว่าอาคารจะออกมาเป็นอย่างไร ยิ่งอาคารใหญ่ใช้คนเขียนแบบหลายคนยิ่งก่อปัญหา เพราะแบบไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้นจึงเห็นบ่อยครั้งว่ามีจุดขัดแย้ง หรือจุดชนกันหลายแห่งเมื่อก่อสร้างจริง เช่น ท่อประปาชนเสาอาคาร

BIM คือ เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะเป็นนวัตกรรมการเขียนแบบ 3 มิติ แบบครบวงจร ช่วยให้ฝ่ายออกแบบสามารถเขียนแบบออกมาได้ง่ายขึ้น ก็จะเห็นอย่างสมจริง จุดตัด จุดเชื่อม แนวผนังเป็นอย่างไร จึงขจัดปัญหาข้างต้นไปได้ อีกทั้งเมื่อส่งต่อให้คนอื่นเขียนแบบต่อ ก็ไม่มีปัญหา เพราะแบบที่เขียนเป็น 3 มิติ เห็นภาพจริง ลำดับต่อจากนี้ เมื่อลงมือก่อสร้าง เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้เห็นว่าทำงานถึงไหนแล้ว จึงทำให้ควบคุมเวลาการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์ของ BIM
ประโยชน์ของ BIM ทาง CPAC Green Solution ระบุว่า มี 10 มิติ หรือ 10D ประกอบด้วย
1. Document
2. 2D Building Document
3. Geometry
4. Time
5. Cost
6. Facility Management
7. Sustainable
8. Health and Safety
9. Automation & Robotics
10. Artificial Intelligent

จากทั้ง 10D ทาง CPAC Green Solution ได้พัฒนามาถึง D ที่ 6 แล้ว นั่นคือ การส่งต่อข้อมูลไปให้ฝ่ายบำรุงรักษา เพราะอายุอาคารหลังก่อสร้างเสร็จนั้นยาวนานกว่า 50 ปีขึ้นไป ในขณะที่การก่อสร้างใช้ระยะเวลาสั้นเพียง 1 – 2 ปีเท่านั้น ดังนั้นการบำรุงรักษาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

อธิบายประโยชน์ทั้ง 6D ได้ดังนี้
1. Document คือ ขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลเพื่อการก่อสร้าง
2. 2D Building Document คือ การนำข้อมูลมาเขียนเป็นแบบ
3. Geometry นำแบบที่เขียน 2 มิติ มาสร้างเป็น 3 มิติ เพื่อให้เห็นภาพจริง
4. Time เมื่อทำงานด้วยแบบ 3 มิติ ที่เห็นเป็นภาพจริง จึงลดความผิดพลาดตามที่กล่าวข้างต้นลงได้มาก ทำให้ทำงานได้รวดเร็ว
5. Cost เมื่อทำงานรวดเร็ว ก็ช่วยลดต้นทุน อีกทั้งเมื่อไม่มีความผิดพลาดก็ไม่มีค่าใช้จ่ายในการแก้ไข ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร และลดการก่อมลพิษ นอกจากนี้เทคโนโลยี BIM สามารถคำนวนจำนวนวัสดุที่ใช้ได้อย่างแม่นยำ ไม่จำเป็นต้องสั่งมาเผื่อเป็นจำนวนมากให้เกิดต้นทุนเพิ่มอีกต่อไป
6. Facility Management สามารถนำข้อมูลส่งต่อให้ฝ่ายบำรุงรักษา เพื่อดูแลอาคารให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ขั้นตอนการทำงานของ BIM
การทำงานของ BIM แบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย
1. ทางกายภาพ คือ การสำรวจพื้นที่ก่อสร้างด้วยโดรน เพื่อเก็บข้อมูลทางกายภาพทั้งหมด เช่น ระดับพื้นที่ ทางเดินน้ำ ทิศทางแสง สิ่งก่อสร้างใกล้เคียง โดยบันทึกข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล
2. PRELIM คือ การนำข้อมูลทางกายภาพทั้งหมดมาออกแบบเป็น 3 มิติ
3. PRECON นำแบบที่เขียนมาสร้างเป็นรูปจำลอง เช่น Animation, 3 Dโมเดล หรือภาพโปรเจคทีฟ เพื่อเสนอลูกค้า
4. Construction คือ เมื่อตกลงตามแบบแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนนำแบบมาจำลองเพื่อหาจุดพกพร่องต่าง ๆ เช่น ท่อน้ำชนกันหรือไม่ หากมีก็แก้ไขให้สมบูรณ์ ก่อนก่อสร้างจริง
5. AFTERCON คือ การติดตามการทำงานตั้งแต่ขณะทำงาน เพราะ BIM มีแดชบอร์ดให้ติดตามงาน กระทั่งแล้วเสร็จเพื่อวางแผนส่งต่อให้ฝ่ายดูแลอาคาร

ข้อดีของขั้นตอนการทำงานทั้งหมด เจ้าของงานสามารถดูความคืบหน้าของการก่อสร้างได้เสมอ เพราะมีมุมมองจากโดรนให้เปรียบเทียบ มีตารางเวลาจากแบบให้เห็นความคืบหน้าว่า วางฐานรากใช้เวลากี่วัน ขึ้นโครงวันไหน กี่วันแล้วเสร็จ ฯลฯ สิ่งนี้นอกจากใช้ติดตามงานแล้ว ยังสามารถดูได้ว่างานส่วนไหนล่าช้าบ้าง จะได้แก้ไขได้ตรงจุด

ตัวอย่างการใช้งานจริง BIM
CPAC Green Solution ได้นำเทคโนโลยี BIM ใช้งานกับหลายโครงการ ได้แก่

Bangsue Solar Car park
Bangsue Solar Car park เป็นโครงการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาที่จอดรถ BIM เข้ามามีบทบาทในการบินโดรนสแกนพื้นที่ เก็บข้อมูลเป็นดิจิทัล คำนวนว่าควรติดตั้งด้านไหนก่อน ซ้าย หรือขวา จึงจะไม่กีดขวางการทำงานกันเอง คำนวนว่าต้องใช้แผ่นโซล่าเซลล์กี่ชิ้น ทำให้ใช้วัสดุได้ตามต้องการ ไม่ต้องสั่งมาเผื่อเป็นจำนวนมาก รวมทั้งใช้โดรนแสกนว่าแผ่นโซล่าเซลล์ชิ้นไหนให้พลังงานไม่เต็มที่ ซึ่งสามารถแก้ไข หรือเปลี่ยนได้โดยง่าย

UHPC Bridge @SCG Bangsue
UHPC Bridge @SCG Bangsue คือ โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตสมรรถนะสูงพิเศษ (UHPC) แห่งแรกของประเทศไทย โดยคอนกรีตทั่วไปมีค่าความแข็งแรงที่ 200 ksc ส่วน UHPC นั้นอยู่ที่ 1,500 ksc ฉะนั้นกระบวนการก่อสร้างจึงต้องพิเศษกว่าทั่วไป ทางโครงการจึงเลือกผลิตจากนอกพื้นที่ แล้วขนย้ายมาประกอบ หน้าที่ของ BIM คือ คำนวนช่วงเวลาขนชิ้นส่วนสะพานเข้ามาประกอบ คำนวนว่าคนโบกรถต้องยืนตรงไหน คนให้สัญญาณเครนต้องยืนจุดใด ข้อดี คือ นอกจากทำงานเร็วแล้ว ยังลดการเกิดอุบัติเหตุด้วย

โรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะ
โรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะ ตั้งอยู่มาบตาพุด จ.ระยอง CPAC Green Solution ใช้ BIM ในการก่อสร้าง ตั้งแต่ต้นจนจบ

นอกจากนี้ BIM ยังสามารถใช้ในการบำรุงรักษาอาคารเพิ่มเติมได้อีกด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ CPAC Green Solution ใช้ประโยชน์จาก BIM คือ การวางแผนซ่อมบำรุง และขนย้ายเครื่องจักรในอนาคต โดยคำนวนพื้นที่ว่า หากช่างจะเข้าซ่อมบำรุงส่วนต่าง ๆ ส่วนสูงของพื้นที่ควรสูงอย่างน้อยเท่าไหร่ ควรเผื่อพื้นที่เพื่อขนย้ายเครื่องจักรไว้เท่าไร

และนี่คือ หน้าที่และประโยชน์ของ BIM เทคโนโลยีที่จะช่วยให้การก่อสร้างเป็นเรื่องง่าย จัดการได้สะดวก ทั้งในขณะก่อสร้าง และอนาคต

นอกจากนี้ CPAC Green Solution ยังขอเชิญทุกท่านร่วมรับฟังการแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับ Digital Construction & BIM จากบริษัทชั้นนำของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนอนาคตของอุตสาหกรรมก่อสร้างเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำในงาน BIMobject Live Thailand Greenovation-Building Low Carbon Future ณ งานสถาปนิกสยาม 67 วันศุกร์ที่ 3 พค. เวลา 13.00-17.00 น. ลงทะเบียนเข้าร่วมงานฟรีที่นั่งมีจำนวนจำกัด

Related Articles

RECOMMEND