Big Data

Digital

22.12.2023

【Network Technology】Network Infrastructure พื้นฐานแห่งความต่อเนื่องของธุรกิจ เติบโตอย่างไม่มีสะดุด

Network หรือระบบเครือข่าย ถือเป็นสิ่งสำคัญของทุกองค์กร มาทุกยุคทุกสมัย และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกในการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปัจจุบันเทคโนโลยีระบบเครือข่ายก้าวหน้ามากขึ้นกว่าในอดีต ความสำคัญจึงทวีขึ้นตามตัว บทบาทของ Network กำลังรุดหน้าไปถึงขั้นไหน ผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงระบบ Network ควรเริ่มต้นอย่างไร คำตอบที่น่าสนใจอยู่ในบทความวันนี้

โดยครั้งนี้เรามีโอกาสพูดคุยกับ คุณกิติพงศ์ อนุสรณ์พงศ์ Managing Director, DTC Internetworking Co., Ltd. องค์กรที่ดำเนินนธุรกิจให้บริการออกแบบวางระบบ พร้อมทั้งให้คำปรึกษา เพื่อสร้างและพัฒนาให้ธุรกิจสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง มาร่วม 20 ปี เกี่ยวกับความสำคัญของ Network และแนวโน้มในอนาคต

DTC Internetworking ในฐานะผู้ออกแบบวางระบบ และที่ปรึกษา
ปัจจุบัน DTC Internetworking ให้บริการออกแบบวางระบบ พร้อมทั้งให้คำปรึกษา โดยแบ่งเป็น 3 Solution หลัก ๆ โดยคุณกิติพงศ์ ได้อธิบายในแต่ละหมวดหมู่ดังนี้

1. Infrastructure ประกอบด้วย
Data Center ออกแบบ และติดตั้ง Data Center ทั้งในสำนักงาน หรือบน Cloud ตามความเหมาะสมของแต่ละธุรกิจ
“เราสามารถให้บริการ Solution Datacenter สำหรับทั้งห้องได้ครับตั้งแต่งานโครงสร้างจนถึงงานระบบ IT Datacenter พูดง่ายๆคือตั้งแต่ต้นจนจบครับ”

Data Protection เป็นบริการในการดูแล และแก้ปัญหาเมื่อระบบล่ม หรือไม่เสถียร
“เราช่วยแก้ปัญหาธุรกิจล่ม ติดขัด ไม่เสถียรให้สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงด้วย Backup & Restoration, DR ก็คือการ Backup ข้อมูลนั่นแหละครับ เช่น เกิดเหตุข้อมูลสูญหาย เพราะไฟดับ น้ำท่วม ระบบของเราก็ยังสามารถ Restore ข้อมูลกลับมาได้ ไม่สูญหาย แล้วก็ใช้งานตัวระบบได้อย่างต่อเนื่อง”

Network คือ ส่วนในการติดตั้งระบบเครือข่ายให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัย
“เป็นเรื่องของการดีไซน์ระบบ network โดยเรามี Engineer คอยให้คำปรึกษา ตลอดจนดีไซน์ โดยใช้ข้อมูลขององค์กรมาประกอบ เช่น ภายในองค์กรมีทั้งหมดกี่แผนก ไซต์งานมีกี่คน มีกี่ตึก มีสาขาหรือไม่ ฯลฯ เพื่อมาวิเคราะห์ว่าควรใช้ Cloud หรือใช้เครื่องมืออะไร ใช้ LAN หรือ Wireless เพื่อดีไซน์ออกมา ให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”

Security ระบบรักษาความปลอดภัยทาง IT ป้องกันได้ทั้งการเข้าใช้จากภายใน และภายนอก
“Security เนี่ย เรามีหลายส่วนประกอบกัน ตั้งแต่ใช้ Firewall ป้องกันการโจมตีจากภายนอก และระบบ Security ที่ป้องกันไวรัสภายใน กรณีติดมากับ USB ที่ใช้กับเครื่อง PC เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจุบัน พนักงานใช้ทั้งโน็ตบุ๊ก หรือแท็ปเล็ต ไปเชื่อมต่อกับ Network สาธารณะ แล้วกลับมาเชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์กภายใน จึงมีความเสี่ยงติดไวรัสเช่นกัน”

IT Devices ส่วนนี้ คุณกิติพงศ์ กล่าวสั้น ๆ ว่า “บริการจำหน่วยอุปกรณ์ไอทีสำหรับสำนักงานต่างๆ เช่น PC, Notebook, Accessory ต่างๆ”

2. Collaboration คุณกิติพงศ์ กล่าวว่า เป็นบริการที่เกี่ยวกับการประชุมและสร้างภาพลักษณ์องค์กร มีจำหน่ายอุปกรณ์ Video Conference รวมทั้งออกแบบระบบการใช้งานทุกรายละเอียด เช่น ขจัดปัญหาการเชื่อมต่อ อย่างทีมงานใช้อุปกรณ์ IT ที่หลากหลาย พอร์ตการต่อขึ้นจอจึงแตกต่าง มีทั้ง HDMI, VGA, USB TypeC ฯลฯ จึงแก้ปัญหาโดยการ Share Screen หรือ Streaming ผ่านทางระบบ Wi-Fi เป็นต้น

ในส่วนของภาพลักษณ์องค์กร หรือ PR ประชาสัมพันธ์ ทาง DTCi ก็มี digital signage หรือ ป้ายดิจิทัล ให้บริการ

3. Mobility โซลูชันนี้ เน้นด้าน 1. อุปกรณ์พกพา โดยบริการจำหน่ายอุปกรณ์พกพาในอุตสาหกรรรมต่าง ๆ เช่น เครื่องแสกนพกพา ปริ้นเตอร์บาร์โค้ด ปริ้นเตอร์พกพา เพื่อใช้งานร่วมกับ Software Application ของลุกค้า ฯลฯ 2. ซอฟแวร์ ได้แก่ งานขาย, ซ่อมบำรุง, ติดตาม บริหารทรัพย์สิน, บริหารคลังสินค้า และบริหารงานขนส่ง และ 3. บริหารจัดการ และควบคุมอุปกรณ์พกพาทั้งหมดในองค์กร ตั้งแต่เริ่มใช้งานจนหมดอายุการใช้งาน

“นอกจากนี้ยังมี solution PDPA (พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) แบบครบวงจร ประกอบด้วยทีมที่ปรึกษา, ทีมนักกฎหมาย และ template ให้เรียบร้อย เพื่อนำไปปรับใช้ในแต่ละองค์กรได้ง่ายขึ้น” คุณกิติพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายสำหรับ solution ของ DTC Internetworking

เทคโนโลยี Network Infrastructure ที่นิยมใช้กับองค์กรต่าง ๆ ของไทยในปัจจุบัน
สำหรับ เทคโนโลยี Network Infrastructure ที่นิยมใช้กับองค์กรต่าง ๆ ของไทยในปัจจุบัน นั้น คุณกิติพงศ์ อธิบายแจกแจงดังนี้

1. Local Area Network (LAN)
คือ การเชื่อมต่อเครือข่ายด้วยสายเคเบิล ในพื้นที่จำกัด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแรก ๆ ที่นำมาใช้ในระบบ Network มีข้อดีที่ความเสถียร ทั้งยังสามารถดูแล และตรวจสอบได้ง่าย ส่วนข้อจำกัด คือ ระยะการส่ง โดยคุณกิติพงศ์ อธิบายว่า ทั่วไปศักยภาพในการส่งข้อมูลของสาย LAN ความยาวไม่ควรเกิน 100 เมตร หากพื้นที่เกิน สาย LAN ต้องหยุดพักที่จุด hop แม้สามารถเชื่อมต่อผ่าน hop ได้ แต่ก็ไม่นิยมนัก เพราะ hop ก็คล้ายสี่แยกไฟแดง ยิ่งมีมาก การจราจรของข้อมูลก็จะยิ่งติดขัด

2. Wide Area Network (WAN)
เป็นการเชื่อมต่อที่ยกระดับขึ้นมาจาก LAN เพราะสามารถเชื่อมต่อกับภายนอกได้ โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ช่วยให้สำนักงานใหญ่ เชื่อมต่อกับสาขาที่อยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น แม้ WAN จะสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายในระยะไกลได้ แต่ก็จำเป็นต้องพึ่งพาระบบอินเตอร์เน็ตภายนอก ความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยจึงมีค่อนข้างสูง

3. Wireless Local Area Network (WLAN)
เป็นการเชื่อมต่อผ่านสัญญาณวิทยุ หรือ Wireless หรือที่เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า WiFi โดยมีสื่อกลางการรับ-ส่ง สัญญาณ คือ Access point หรือ Router โดยข้อดีของ WLAN คือ การเป็นระบบเครือข่ายแบบไร้สาย ช่วยให้เราสามารถเลือกสถานที่ทำงานได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะย้ายโน๊ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ตออกไปจากโต๊ะทำงาน หรือจะย้ายอุปกรณ์ไปนั่งประชุมห้องอื่นก็สามารถทำได้ แต่ในกรณีพื้นที่สำนักงานกว้าง ก็จำเป็นต้องเพิ่มจำนวน access point เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสัญญาณให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ จึงทำให้ต้นทุนสูงขึ้นตามลำดับ

 

4. Virtual Private Network (VPN)
เป็นระบบเครือข่ายลักษณะคล้าย WAN ที่ใช้งานผ่านอินเตอร์เน็ต สามารถเชื่อมต่อระยะไกลได้ โดยความหมายตรงตัวของ VPN คือ เครือข่ายส่วนตัวเสมือน หมายความว่า แม้จะใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ต แต่ก็มีความปลอดภัยเสมือนอยู่ในระบบปิด เพราะมีการเข้ารหัส ทำให้ข้อมูลภายในไม่รั่วไหล ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างสูง

คุณกิติพงศ์ ขยายความว่า “เหมือนเราสร้างท่อขึ้นมา 1 ท่อ โดยภายในมีการเข้ารหัสต่างๆ หรือล็อค policy ไว้ ซึ่งสามารถใช้งานได้เฉพาะบุคลากรขององค์กรเท่านั้นครับ”

Tip: ข้อแตกต่างระหว่าง fiber optic กับ cable optic
เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเครือข่ายองค์กรอย่าง DTC Internetworking แล้ว ทีมงานจึงถือโอกาสสอบถามเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง fiber optic กับ cable มาฝากกันเพิ่มเติม

“อันดับแรกเลย UTP Cable หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สาย Lan มีราคาถูกกว่า และใช้งานง่ายกว่าไฟเบอร์ เนื่องจากไฟเบอร์มีอุปกรณ์ที่ต้องใช้มาเกี่ยวข้องในระบบค่อนข้างมาก แต่ในขณะเดียวกัน ไฟเบอร์สามารถส่งข้อมูลได้เร็วกว่า และส่งได้ไกลกว่า เพราะส่งด้วยแสง ซึ่งเราทราบกันดีว่าแสงสามารถเดินทางได้ด้วยความเร็วสูงมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ภาครับ-ภาคส่ง เป็นปัจจัยด้วย” คุณกิติพงศ์ อธิบาย พร้อมทั้งบอกว่า แม้ระบบเครือข่ายจะมีหลายประเภท แต่ในความเป็นจริงแล้ว การออกแบบ และใช้งาน ก็ไม่ได้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ล้วนใช้ผสมกัน เพื่อความลงตัว และเหมาะกับองค์กรเสมอ เพราะระบบเครือข่ายแต่ละประเภท มีข้อดี และข้อด้อยต่างกัน องค์กรที่เลือกใช้ระบบ WLAN ก็ใช้ LAN กับบางแผนก เช่น บัญชี ที่ต้องการความเสถียรในการส่งข้อมูลที่สุด ดังนั้น การเลือกใช้ระบบเครือข่าย จึงควรพิจารณาจากลักษณะการทำงานเป็นหลัก ซึ่งประเด็นนี้ หากได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจ ก็จะทำให้เกิดมุมมองที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

แนวโน้ม Network Infrastructure ของไทยในอนาคต
สำหรับ แนวโน้ม Network Infrastructure ของไทยในอนาคต คุณกิติพงศ์ ให้ความเห็นว่า “ผมมองว่าองค์กรจะใช้งานผ่านระบบ Cloud Management มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เห็นหลายบริษัทแล้ว ข้อดีของการใช้ระบบเครือข่ายบน Cloud Management คือ ทำให้ส่วนกลางบริการจัดการ แก้ไขปัญหาได้ง่าย และรวดเร็ว เช่น สาขาที่ต่างจังหวัดมีปัญหา ทางส่วนกลางก็แก้ไขให้ได้ทันที ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว บริษัทแม่ไม่ค่อยส่งผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ไปประจำที่สาขานัก รวมทั้งสาขาก็ไม่ค่อยมีใครถนัดเรื่องนี้ ดังนั้นหากมีปัญหาก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะแก้ไขได้ แต่ระบบ Cloud สามารถจัดการได้เลยจากส่วนกลาง นอกจากนี้ยังสามารถ Monitor ข้อมูลต่าง ๆ ของแต่ละสาขา ได้สะดวกง่ายดายอีกด้วย”

“อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าจับตา คือ Cellular ที่เราเรียก 4G, 5G นั่นล่ะครับ เพราะว่ามันเป็นเน็ตเวิร์กอีกประเภทหนึ่ง เพียงแต่ผ่านทางผู้ให้บริการภายนอกเท่านั้น ที่น่าจับตา คือ ปัจจุบันเราใช้ Device อื่น ๆ อย่างมือถือ แท็บเล็ต มากขึ้น มีซิมก็สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้แล้ว และต่อไปค่าบริการก็น่าจะถูกลง ยิ่งเมื่อความเร็วของ 5G สูงมาก ทำให้บางองค์กรไม่จำเป็นต้องวางระบบเน็ตเวิร์กหรือระบบ WiFi ในงบที่สูง ช่วยลดต้นทุนได้ดี ซึ่งผมมองว่าอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในอนาคต

 

RECOMMEND