Big Data

Digital

Data Analytics

08.12.2023

【Network Technology】Blockchain ธุรกิจที่ไม่ต้องพึ่งตัวกลาง

เมื่อพูดถึง Blockchain คำว่า Bitcoin ย่อมเป็นตัวเลือกแรก ที่ใคร ๆ นึกถึง เพราะทั้งคู่ถือกำเนิดมาพร้อมกัน ในปี 2008 ขณะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ Global Financial Crisis นักพัฒนาซึ่งใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ได้ออกแบบเงินดิจิทัลสกุลแรกออกมา ชื่อว่า Bitcoin โดยทำงานบนเทคโนโลยี จัดเก็บข้อมูล (Data Structure) ที่ชื่อ Blockchain คุณลักษณะหลัก ๆ คือ ทุกคนสามารถโอนเงินดิจิทัลหากันได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง มีความปลอดภัยสูง ไม่ถูกควบคุมโดยรัฐหรือองค์กรใด กระทั่งถูกนำขึ้นให้บริการอย่างเป็นทางการบนเน็ตเวิร์ค เมื่อวันที่ 3 มกราคม ปี 2009 ฉะนั้นจึงไม่แปลก ที่เมื่อเอ่ยถึง Blockchain แล้ว จะมี Bitcoin ปรากฏมาเป็นเงาตามตัว ทั้ง ๆ ที่ศักยภาพของ Blockchain มีมากกว่าเครื่องมือของสกุลเงิน

Blockchain คืออะไร ทำงานอย่างไร
คุณโดม เจริญยศ CEO & Co-founder at Tokenine and DomeCloud ผู้เชี่ยวชาญด้าน Blockchain กล่าวว่า “Blockchain ก็คือ database ถูกออกแบบมาเพื่อเก็บข้อมูล ในอดีตเรามีการเก็บข้อมูลอยู่หลายชนิด กระทั่งเวลาผ่านไป โปรแกรมเก็บข้อมูลกลายเป็นเวอร์ชันออนไลน์ หรืออินเตอร์เน็ต จึงทำให้พื้นที่เก็บข้อมูลต้องการสเกลที่ใหญ่ขึ้นไปด้วย database เดี่ยว ๆ เริ่มไม่พอแล้ว ช้าเกินไป ก็เลยเกิด database เฉพาะทางขึ้นมา”

“ทีนี้เมื่อ 10 ปีย้อนหลังนี่เอง มีคนคิดเรื่องการทำ database เฉพาะขึ้นมา โดยปรัชญาการออกแบบ คือ ต้องแก้ไขยาก หรือแก้ไขไม่ได้เลย น่าเชื่อถือ โปร่งใส ปรัชญามีแค่นี้ เขาก็มามองหาวิธีว่าจะทำ database อย่างไร ให้น่าเชื่อถือแล้วก็โปร่งใส”

ด้วยปรัชญานี้ คุณโดมกล่าวว่า “จึงเกิดเป็น Blockchain ขึ้นมา” พร้อมทั้งอธิบายรูปแบบการทำงาน โดยอิงโปรแกรม excel ประกอบให้เห็นภาพว่า ทั่วไปการเก็บข้อมูลจะใส่เป็นแถว แถวละ 1 คน แต่ละคนก็มีหัวข้อต่าง ๆ มากมาย นานวันเข้าจะอ้างอิงได้ยาก ยิ่งเมื่อมีการแก้ไขยิ่งตรวจสอบลำบาก ฉะนั้นจึงมีการรวมข้อมูลเหล่านี้มาเป็น transaction สร้างให้รวมกันเป็นก้อน ซึ่งลักษณะก้อนนี่เอง ที่เรียกว่า Block

การทำงานของ Block คือ ทุก ๆ เวลาที่กำหนด เช่น 5 วินาที, 10 วินาที ข้อมูลจะถูกบันทึกลงบล็อก ทั้งนี้หากในช่วงเวลานั้นไม่มีการป้อนข้อมูลเข้ามา ก็จะถูกบันทึกเป็นบล็อกเปล่าลงไป ดังนั้นข้อมูลก็จะอยู่ในบล็อกเรื่อย ๆ ต่อเนื่องไปเป็นลักษณะห่วงโซ่ หรือ Chain
ในแต่ละ Block มี Algorithm ทางคณิตศาสตร์ คอยกำกับอยู่ เรียกว่า Hash หมายความว่า หากข้อมูลเปลี่ยน Hash ก็เปลี่ยน จึงทำให้รู้ได้ว่าใครเข้ามาแก้ไข

ต่อจากนั้น คุณโดม ได้สรุปภาพรวมของ blockchain ว่า “เพราะฉะนั้น ถ้าเราได้บล็อกหนึ่งบล็อกมา จะรู้เลยว่า ข้อมูลมีกี่อัน Hash คืออะไร แล้วบล็อกก่อนหน้าคืออะไร เพราะมันต่อกันเป็นเส้นสายที่เรียกว่า blockchain แล้วก็แก้ไม่ได้ สังเกตได้ว่า blockchain ไม่เน้นเรื่องอื่นเลย นอกจากเรื่องความน่าเชื่อถือ”

บริการจาก Tokenine and DomeCloud
สำหรับ Tokenine and DomeCloud นั้น คุณโดม เจริญยศ CEO & Co-founder at Tokenine and DomeCloud บอกถึงบริการของบริษัทว่า “สำหรับ DomeCloud เริ่มจัดตั้งขึ้นก่อนที่คลิปโตฯ จะเฟื่องฟู ประมาณเมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยทำบล็อกเชนให้กับหลายหน่วยงาน เช่น การทำบัตรเชิญผ่าน Blockchain กระทั่งเมื่อประมาณ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา องค์กรต่าง ๆ เริ่มต้องการจะออกเหรียญเป็นของตนเอง อยากมี token จึงเกิดเป็น Tokenine ขึ้นมา เพื่อให้บริการออกเหรียญ Token แก่ลูกค้า”

“การใช้ Blockchain ช่วยให้องค์กรลดต้นทุนได้เยอะ ยกตัวอย่างเช่น คูปองรถบ้าน สมัยก่อนใครซื้อคูปองไปพักรถบ้าน ซื้อแล้วไม่ได้ไป ต้องทิ้งเลยนะ เพราะมันอยู่ในมือ ต่อให้มันเป็นดิจิทัลก็ตาม คือ ไม่ได้ไป ก็ต้องทิ้งเลย แต่พอกลายเป็น voucher nft กลายเป็น Blockchain ถึงจะไม่ได้ไป ก็ประกาศขายได้ วันนี้ไม่ได้ไป สามารถโอนให้เพื่อนได้ เมื่อเพื่อนมีเหรียญ ก็นำไปโชว์ที่พักเพื่อเข้าพักได้ ฝ่ายที่พักก็เบิร์นเหรียญแล้วก็ให้เข้าพักได้เลย”

ธุรกิจที่สามารถใช้ประโยชน์จาก Blockchain ได้
แรกเริ่มธุรกิจที่ทำงานบน blockchain คือ Bitcoin โดยการให้ผู้ใช้ช่วยกันค้นหา Hash เมื่อเจอก็จะได้รับรางวัลเป็น Bitcoin ที่เรียกกันว่า ขุด Bitcoin หรือ ทำเหมืองนั่นเอง เพราะลักษณะเหมือนการทำเหมืองขุดหาของมีค่า การค้นหาสมการนี้ ทำบนเครือข่ายออนไลน์ ฉะนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ใครศักยภาพสูง ก็มีโอกาสเจอ Hash ได้มากกว่า ทั้งนี้รูปแบบของ blockchain ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ว่าผู้ใช้จะมีศักยภาพอย่างไร ก็สามารถทำงานบนเครือข่ายนี้ได้ ต่อให้ผู้ขุดเหมืองรายใหญ่ปิดกิจการ blockchain ก็ยังทำงานของมันตามเดิม

ธุรกิจที่สามารถใช้ประโยชน์จาก blockchain ได้ดี คือ การเงิน เนื่องจาก blockchain มีความปลอดภัยสูง สะดวก สามารถขจัดปัญหาตัวกลางได้ โดยคุณโดม อธิบายว่า การทำงานด้านการเงินบน blockchain มักแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย public key และ private key

public key คือ wallet หรือกระเป๋าเงินดิจิทัลนั่นเอง เมื่อผู้ใช้งาน สร้างกระเป๋าเงินดิจิทัลขึ้น ก็จะได้หมายเลขกระเป๋าเงินมา ซึ่งเลขนี้เป็นแบบสาธารณะสามารถให้บุคคลทั่วไปดูได้ว่า นี่คือกระเป๋าเงินของฉัน มีเงินอยู่จริง โดยกระเป๋าอยู่ในรูปแบบออนไลน์บน blockchain ซึ่งไม่มีองค์กรใดเป็นเจ้าของ และไม่อิงกับธนาคารใด

ส่วน private key เป็นเหมือนลายเซ็นเจ้าของกระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้เพื่ออนุมัติการทำธุรกรรม ทั้งจ่ายและรับเงิน ถือเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยให้ใครทราบได้

สำหรับการทำงาน คุณโดม กล่าวว่า “เมื่อจะโอนเงินให้ใคร ผมต้องขอ public key หรือ wallet ของเขามาก่อน แล้วผมก็จะเอา private key ของตัวเองใส่เข้าไป เพื่อสั่งกระเป๋าของผมว่าจะโอนไปเท่าไร ต่อจากนั้นระบบจะเช็คว่าโอนไปกระเป๋าใคร เงินในกระเป๋าคนโอนมีเหลือพอหรือไม่ แล้วจัดการโอนไปให้”

คุณโดม ชี้ให้เห็นว่า การทำธุรกรรมลักษณะนี้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งตัวกลาง รวมทั้ง user name และ password อย่างธนาคาร ที่เราต้อง login เข้าแอปฯ ของธนาคารก่อน และเงินก็อยู่ในธนาคาร มีโอกาสถูกมิจฉาชีพปลอมแปลงเอกสารโยกเงินออกมาได้สูง

นอกจากธุรกิจทางด้านการเงินแล้ว ร้านค้า หรือตัวแทนให้บริการ ก็สามารถนำ blockchain มาใช้ได้เช่นเดียวกัน เช่น ธุรกิจ food delivery

ธุรกิจ food delivery มีบริษัทตัวแทนทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับอาหารจากร้านอาหาร ไปส่งให้ลูกค้า โดยการจ้างพนักงานขับรถ หรือ Rider มาบริการ ซึ่งร้านอาหารต้องเสียค่าบริการให้ตัวกลาง เมื่อลูกค้าสั่งอาหาร ก็ต้องโอนเงินผ่านตัวกลาง ตัวกลางทำหน้าที่ล็อกเงินไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับอาหาร กระบวนการล็อกเงินนี่เอง ที่สามารถใช้ blockchain มาทำแทนได้ เมื่อใช้ blockchain แทน ก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าบริการให้ตัวกลางอีก

ธุรกิจห้องพัก ก็สามารถนำ blockchain มาใช้เช่นกัน ยกตัวอย่าง กรณีผู้ประกอบการจำหน่าย Voucher ส่วนลดที่พัก หากเป็นแบบดั้งเดิม ต้องถือบัตรเป็นกระดาษไปยืนยัน จึงจะใช้ได้ ดังนั้นหากลูกค้าซื้อแล้วไม่สามารถไปได้ ก็จะเสียโอกาสไปโดยใช่เหตุ แต่ถ้าขาย Voucher ในรูปแบบ nft บน blockchain แม้ว่าลูกค้าไม่สามารถใช้สิทธิ์ด้วยตัวเองได้ เขาก็สามารถขายต่อให้คนอื่น นำ nft ไปแสดงได้

Web 3.0 โฉมหน้าใหม่ของการใช้งานอินเตอร์เน็ต
Web 3.0 คือ พัฒนาการของเว็บไซต์ ขั้นที่ 3 โดยพัฒนาการของอินเตอร์เน็ตนั้น เริ่มต้นจาก…

Web 1.0 ซึ่งเป็นการตอบสนองทางเดียว ยังไม่มีการเชื่อมต่อกับ Database กล่าวง่าย ๆ คือ สามารถเข้ามาอ่านเนื้อหาได้อย่างเดียว

ขั้นต่อมา Web 2.0 เป็นอินเตอร์เน็ตที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน มีการเชื่อมต่อกับ Database ปฏิสัมพันธ์กันได้บนเว็บไซต์ มี Social media เป็นการตอบสนองสองทาง

Web 3.0 ยังอยู่ในช่วงการคาดการณ์ว่าจะมีความอัจฉริยะสูง สามารถทำงาน วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น

ทั้งนี้ Web 3.0 จะมีการทำธุรกรรมด้วยตัวเองคล้าย blockchain หมายความว่า ผู้ใช้สามารถสร้าง user ขึ้นมาเอง ส่วนหลังบ้าน ก็จะเชื่อมกันเอง ข้อมูลจะวิ่งหากันใน server ซึ่งจะสะดวกขึ้นจากเดิมอีกมาก

ธุรกิจที่จะได้ประโยชน์บน Web 3.0
แม้ Web 3.0 ยังมาไม่ถึง แต่ความสามารถของเว็บไซต์ในปัจจุบันก็พัฒนาไปมาก คุณโดม นิยามให้เป็น Web 3 พร้อมทั้งยกตัวอย่างธุรกิจด้านการเงิน ที่ดำเนินอยู่อย่างน่าสนใจ คือ การกู้เงินผ่านเว็บไซต์ โดยวางเหรียญ Ethereum (ETH) เป็นหลักประกัน

“มีธุรกรรมสำหรับการกู้เงินกันเอง โดยใช้สินทรัพย์ดิจิทัลบางตัวมาค้ำประกัน เช่น ผมมี ETH อยู่ 10 เหรียญ ซึ่งราคา 1,500 ดอลลาร์ ต่อ 1 ETH ทีนี้ผมอยากจะได้เงินดอลลาร์มาใช้ แต่ไม่อยากขายเหรียญออกไป เพราะรู้ว่ามันจะขึ้นเป็น 2,000 ดอลลาร์ ต่อ 1 ETH เหมือนมีทอง เราสามารถเอาทองไปวางที่ร้านทองได้ โดยพนักงานร้านทองจะตรวจสอบว่าทองแท้หรือไม่ สำหรับเหรียญคริปโตฯ ระบบ blockchain จะรับหน้าที่ตรวจสอบ”

“เมื่อผมต้องการใช้เงินดอลลาร์ ก็นำเหรียญ ETH ไปค้ำประกัน กับคนที่ปล่อยกู้ สมมติผมมี 10 ETH คิดเป็น มูลค่ารวม 15,000 ดอลลาร์ แต่ผมขอกู้แค่ 10,000 ดอลลาร์ เขาก็ปล่อยให้ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เพราะเขาเชื่อในมูลค่าของเหรียญ ETH ทีนี้ ถ้ามูลค่า ETH ตกลงใกล้ราคาที่รับประกัน ระบบก็จะขายออกทันที เพื่อนำเงินไปคืนผู้ปล่อยกู้ ในทางกลับกัน ถ้า ETH ราคาขึ้น ผมก็ไปหาเงิน 10,000 ดอลลาร์ รวมดอกจำนวนหนึ่ง มาไถ่คืนได้ จะเห็นว่าสะดวกมาก อย่างนี้ไม่สามารถทำได้บนโลกจริงเลย เพราะถ้าเกิดบนโลกจริง ต้องไปธนาคาร เอาบ้าน เอาโฉนดที่ดินไปค้ำ ต้องมีกระบวนการตรวจสอบมากมาย แต่บน blockchain สามารถทำได้เลย”

ไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับ blockchain ที่ดีที่สุดในโลก
ประเทศไทย ถือว่าให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างมาก มีพระราชกําหนด การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มาตั้งแต่ พ.ศ. 2561 โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ไม่สามารถออกเหรียญดิจิทัลในลักษณะระดมทุนได้ หากจะทำ ต้องยื่นขอต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ก่อน เพราะป้องกันไม่ให้เกิดการหลอกลวงให้ลงทุนแล้วเชิดหนี
2. เหรียญที่สัญญาว่าจะมีการจ่ายปันผล ต้องขออนุญาตต่อ กลต. เช่นกัน
3. เหรียญที่เป็น unility token หรือเหรียญแลกสิทธิบริการ สามารถออกได้ทันที แต่สิทธิ์นั้นก็ต้องพร้อมแลกทันทีด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง การซื้อสินค้าแล้วได้สิทธิ์รับเหรียญ เพื่อใช้แลกที่พักรถบ้านได้ 1 คืน โดยที่สิทธิ์เข้าพักนั้น ต้องพร้อมใช้ได้ทันที
4. เหรียญดิจิทัล ไม่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเหมือนเงินบาท

แนวโน้ม blockchain และ Web 3 ในอนาคต
แม้ประโยชน์ของ blockchain จะมีมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันการสร้างกระเป๋าดิจิทัลยังมีความยุ่งยาก รวมทั้ง Key ของกระเป๋ายังจำยาก ผู้ใช้งานจำเป็นต้องเก็บรักษาเป็นอย่างดี เพราะหากทำหายก็เท่ากับว่า จะไม่สามารถใช้กระเป๋าใบนั้นได้อีกเลย แต่แนวโน้มในอนาคตนั้น ความยุ่งยากพวกนี้จะหมดไป เพราะการใช้งาน blockchain กำลังเข้าสู่ฝั่งที่เรียกว่า NEXT billion user คือ การก้าวข้ามผู้ใช้จำนวน 1 พันล้านคนแรกไปแล้ว หมายความว่า เมื่อผู้ใช้จำนวนมากได้ทำความรู้จักและใช้งาน blockchain ได้อย่างสะดวกแล้ว ขั้นต่อไปก็จะง่าย และสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งจากความคุ้นเคย และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาเกื้อหนุน เช่น การเพิ่มความเร็วในการทำงานของ blockchain การใช้งาน Web 3 และ การทำธุรกรรมผ่าน Account Abstraction ดังนั้นเทคโนโลยี blockchain จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับการยอมรับ และนำเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งเราควรทำความคุ้นชินกับมันตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อจะได้ไม่ตกขบวนเมื่อถึงเวลานั้น
********

RECOMMEND