โครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ โครงการวังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley) คือ โครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่จะพัฒนาพื้นที่โครงการฯ ให้มีระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ในระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ EEC ของภาครัฐ โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันพัฒนาผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) เพื่อเป็นกลไกในพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้นด้วยนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ที่ยั่งยืน
ภาครัฐได้เล็งเห็นว่า การสร้างธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ยั่งยืนได้นั้น เมืองไทยจำเป็นต้องคิดค้นและมีเทคโนโลยีของตนเอง เพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง โดยต้องมีการเปลี่ยนผ่านจากนโยบาย Thailand 3.0 ที่เน้นการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออก มาเป็น Thailand 4.0 ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม โดยเมืองไทยจะต้องเป็นทั้งผู้ผลิตและเป็นเจ้าของนวัตกรรม
ในปี พ.ศ. 2560 จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การสนับสนุนพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มากถึง 40 หน่วยงาน รวมถึง ปตท. โดยหลังจากนั้นภาครัฐได้มอบหมายให้ สวทช. และ ปตท. ร่วมกันพัฒนา EECi และกำหนดให้พื้นที่โครงการวังจันทร์วัลเลย์เป็นพื้นที่ก่อตั้ง EECi Headquarters ซึ่งในตอนนั้นวังจันทร์วัลเลย์มีความพร้อมอยู่ก่อนแล้ว เพราะยังมีพื้นที่ว่างอีกประมาณ 2 พันไร่ และเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นการศึกษา การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ ได้แก่ “โรงเรียนกำเนิดวิทย์” (KVIS) และ “สถาบันวิทยสิริเมธี” (VISTEC) โดย ปตท. ทำหน้าที่หลักในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ ของเมือง และ สวทช. ทำหน้าที่หลักในเรื่องเกี่ยวกับการวิจัยและนวัตกรรม
จุดเริ่มต้นของ Wangchan Valley Smart City
ย้อนกลับไปในตอนเริ่มโครงการวังจันทร์วัลเลย์ช่วงปี พ.ศ. 2560 ในตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าเมืองอัจฉริยะต้องมีอะไรบ้าง ทีมงานจึงได้เริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลตัวอย่างและหลักการในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าสนใจที่จะนำมาใช้กับวังจันทร์วัลเลย์ แต่เพื่อให้เป็นการออกแบบเมืองอัจฉริยะที่คุ้มค่า ตรงใจผู้อยู่และผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด เราจึงได้จัด Smart City Design Workshop กับ Focus Group ซึ่งคือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นทั้งผู้อยู่ในพื้นที่ในปัจจุบัน ผู้ที่จะมาอยู่ในอนาคต และพันธมิตรที่จะมาร่วมสร้างเมืองนี้กับเรา เพื่อร่วมกันกำหนดองค์ประกอบหลักของเมือง และคัดเลือกเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวก ที่จะนำมาใช้กับเมือง
สิ่งสำคัญที่ได้จากการทำ Workshop เพื่อระดมความคิดจากหลากภาคส่วนหลายๆ ครั้ง ในตอนนั้น คือ ภาพ Innovation Ecosystem ของเมือง ที่ประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญ ที่ทีมงานเชื่อว่าจะทำให้วังจันทร์วัลเลย์เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ดังนี้
1. บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (Large Firms & MNCs) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการคิดค้น พัฒนา รวมถึงผลิตนวัตกรรมออกมาสู่ตลาด
2. สถาบันวิจัย และหน่วยงานกำกับดูแล (Research Institutes & Regulators) มีบทบาทสำคัญในการคิดค้นพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลจะช่วยในเรื่องการให้อนุญาตผ่อนปรนข้อกฎหมายบางข้อเพื่อให้เกิดการทดสอบทดลองสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หรือ Prototype รวมถึงช่วยผลักดันเชิงนโยบายภาครัฐ ฯลฯ
3. โรงเรียนและสถาบันการศึกษา (School & University) องค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยพัฒนางานวิจัยขั้นสูง สั่งสมองค์ความรู้ที่สามารถต่อยอดไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ได้ รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาภายนอก
4. Smart Township คือพื้นที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิต เพื่อไม่ให้วังจันทร์วัลเลย์เป็นแค่เมืองสำหรับการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ด้วยเช่นกัน มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น Community Mall สถานพยาบาล โรงเรียน โรงแรม และ อพาร์ทเม้นท์ เป็นต้น
5. ธุรกิจขนาดเล็ก SMEs และ Startup ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยคิดค้นไอเดียสำหรับนวัตกรรมใหม่ๆ หรือโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม
หลังจากนั้น ปตท. ซึ่งได้รับมอบหมายให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ ของเมือง จึงได้เริ่มออกแบบทางวิศวกรรม โดยใช้คอนเซ็ปต์ Smart Natural Innovation Platform คือเมืองวัตกรรมอัจฉริยะที่คงความสวยงามของธรรมชาติของผืนป่าวังจันทร์ที่มีอยู่เดิม เนื่องจากพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ติดภูเขา หน้าฝนจะมีน้ำจากภูเขาไหลลงมาตามลำธาร และในยามเช้าจะมีหมอกให้เห็นเป็นประจำ การออกแบบผังเมืองจึงคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันของคน กิจกรรมของคน และธรรมชาติเป็นอย่างมาก
ในส่วนของการคัดเลือกเทคโนโลยี Smart City มาใช้กับเมือง ได้มีการคัดเลือกกันหลายครั้ง เน้นเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการและความคุ้มค่าควบคู่กันไป โครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมใช้งานเดือน เม.ย. ปี 2564 และกลายเป็น 1 ใน 5 เมืองอัจฉริยะ เมืองแรกๆ ของประเทศไทย ผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์เป็นเมืองอัจฉริยะครบทั้ง 7 ด้านจาก DEPA ได้แก่ Smart Environment, Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy จากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกผู้อยู่อาศัย เพื่อบริหารจัดการเมือง โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งเมืองวังจันทร์วัลเลย์ถือได้ว่ามีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมสรรพครบสมบูรณ์อยู่ภายในเมือง ดังนี้
โดยในช่วงแรกโครงการฯ จะมุ่งเน้นในเรื่อง Smart Environment และ Smart Energy เป็นหลัก ตัวอย่างเทคโนโลยี Smart Environment และมาตรกาต่าง ๆ ที่นำมาใช้และเกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในโครงการ เช่น
● เซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ เช่น ตรวจวัดโอโซน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือฝุ่น PM2.5
● EIA ภาคสมัครใจ ถึงแม้หน่วยงานกำกับดูแลจะบอกว่าโครงการเราไม่ต้องทำ แต่เราก็การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อจะได้เก็บค่า benchmark ของคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกำหนดมาตรการควบคุมเพื่อให้การพัฒนาเมืองส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
● ระบบบริหารจัดการขยะภายในโครงการ ที่มีการติดตามการคัดแยกขยะ และติดตามว่าขยะถูกนำไปจัดการอย่างถูกต้องภายนอกโครงการ
● เครื่องผลิตปุ๋ยจากเศษอาหาร ที่ช่วยลดการกลบฝังขยะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเศษอาหารเปลี่ยนเป็นปุ๋ยที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
● Clean Energy การผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดจาก Solar Roof Solar Farm และ Solar Floating พร้อมกับแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์
นอกจากนี้ วังจันทร์วัลเลย์ยังมี Roadmap เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับแผนของ ปตท. ที่ประกาศว่า จะเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยสิ่งที่วังจันทร์วัลเลย์ได้เริ่มทำและอยู่ใน Roadmap ยกตัวอย่างเช่น
1) แผนการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด แผนการติดตั้ง และผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดภายในพื้นที่
2) แผนการปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียว
3) การนำเทคโนโลยีที่สามารถเก็บสะสมพลังงานสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้
4) การนำเทคโนโลยี Energy Trading มาทดลองใช้ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานสามารถซื้อขายพลังงานสะอาดที่เหลือใช้ได้ระหว่างกันในอนาคต
สำหรับเทคโนโลยี Smart Energy เรามีพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัทลูกและหน่วยงานภายใน ปตท. หลายหน่วยงาน ที่ช่วยกันนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาติดตั้งให้ใช้จริง และทดลองใช้อีกมากมาย เช่น
1. Energy Management System
วังจันทร์วัลเลย์มีซอฟต์แวร์ Energy Management System ใช้ในการบริหารจัดการการจ่ายพลังงานในพื้นที่ให้กับลูกบ้านและอาคารต่าง ๆ ภายในวังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งทำหน้าที่ทั้ง Monitor และควบคุมการจ่ายไฟฟ้า ซึ่งนอกเหนือจากหน้าที่ข้างต้น การที่ใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาบริหารจัดการ ทำให้เรามี Digital Data ที่สามารถนำมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจ่ายไฟ หรือการลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการปรับปรุงระบบงานจ่ายไฟให้ดียิ่งขึ้น
2. SCADA
SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) คือ ระบบที่ใช้ควบคุมและสั่งการอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในวังจันทร์วัลเลย์ รวมไปถึงใช้จัดสรรพลังงาน ว่าควรจ่ายไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟหรือครัวเรือนต่าง ๆ อย่างไร ใช้มอร์นิเตอร์ว่า ไฟฟ้าถูกจ่ายไปที่ใด ปริมาณเท่าไร
3. Building Management System
ระบบ Building Management แม้จะหมายถึง ระบบที่ใช้ควบคุมอาคาร แต่ก็เป็นเรื่องของการบริหารและสั่งการอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพลังเช่นเดียวภัย โดยวังจันทร์วัลเลย์จะใช้ระบบ BMS ในการมอร์นิเตอร์อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ในอาคาร เช่น ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบปรับอากาศในอาคาร ระบบลิฟต์ขนส่ง รวมไปถึงปลั๊กไฟก็สามารถมอร์นิเตอร์ผ่าน BMS ได้เช่นกัน
4. Enlight & Ensight
Enlight & Ensight เป็นระบบ Data Analytics ที่ ปตท. ร่วมกับบริษัท Envision ศึกษา พัฒนา และทดลองแพลตฟอร์มบริหารพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ โดยเทคโนโลยีตัวนี้จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลความเข้มของแสงในพื้นที่ได้ พร้อมทั้งพยากรณ์โดนเอาข้อมูลจากดาวน์เทียมพยากรณ์อากาศมาประมวลผล ดูว่าภายใน 7 วัน จะสามารถผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้กี่กิโลวัตต์ เพื่อใช้วางแผนการผลิตและจัดสรรพลังงานต่อไป
นอกเหนือจากการพยากรณ์แสงอาทิตย์แล้ว Enlight & Ensight ยังมีความสามารถในการมอร์นิเตอร์สภาพของอุปกรณ์ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น มอร์นิเตอร์ได้ว่าแผงโซลาร์แผงใดที่ผลิตกำลังไฟได้น้อยกว่าปกติ พร้อมประเมินว่า ต้องเข้าไปทำความสะอาดหรือเปลี่ยนอุปกรณ์เมื่อใด
5. Augmented Operation System
เทคโนโลยี Augmentation ที่ทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ในโลกดิจิทัลบนโลกจริงได้ผ่านอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟน ก็ถูกนำมาประยุกต์ติดตั้งกับอุปกรณ์ไฟฟ้าในโครงการวังจันทร์วัลเลย์เช่นเดียวกัน
Augmented Operation System เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Schneider Electric Thailand ช่วยให้เราสามารถใช้แท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนสแกน QR code บนอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อตรวจสอบพารามิเตอร์ได้ทันที โดยไม่ต้องเปิดตู้จ่ายไฟหรือรื้ออุปกรณ์ หรือจะดูข้อมูลผ่านศูนย์ควบคุมในออฟฟิศก็สามารถทำได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเซนเซอร์สำหรับตรวจสภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้า ทำให้รู้ว่าอุปกรณ์ชิ้นใดกำลังมีปัญหาและต้องเปลี่ยน
6. Solar Roof & Battery
แน่นอนว่า เทคโนโลยีอย่างระบบแผงโซลาร์เซลล์และ Solor Roof (การติดตั้งแผงโซลาร์บนอาคาร) ก็เป็นอีกเทคโนโลยีหลักที่วังจันทร์วัลเลย์ใช้เพื่อผลิตพลังงานสะอาด โดยนอกจากการใช้แผงโซลาร์แล้ว ที่วังจันทร์วัลเลย์ติดตั้งแบตเตอรีสำหรับเก็บสำรองพลังงานแสงอาทิตย์ที่เหลือจากการใช้งานอีกด้วย โดยจุดประสงค์สำคัญก็เพื่อทดสอบว่า การติดตั้งแบตเตอรีที่มีค่าใช้จ่ายสูง จะคุ้มค่าหรือไม่ สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายและค่าไฟได้มากน้อยเพียงไร หรือต้องใช้ระยะเวลาเท่าไรการลงทุนติดตั้งจึงจะคุ้มค่า
การสร้าง Innovation Platform เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในเมืองไทย
เป้าหมายสำคัญของวังจันทร์วัลเลย์ไม่ใช่การเป็น Smart City เมืองต้นแบบของเมืองไทยเท่านั้น แต่เราต้องการสร้างระบบนิเวศน์นวัตกรรมที่เหมาะสมให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ สำหรับเมืองไทย หลังจากที่ได้เริ่มโครงการมาสักระยะ จึงเริ่มเห็นความจำเป็นของการที่เมืองไทยต้องมีพื้นที่ Regulatory Sandbox เพื่อให้สามารถทดลองทดสอบเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ได้อย่างถูกกฎหมาย เราจึงได้ผลักดันอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันวังจันทร์วัลเลย์เป็นพื้นที่ Sandbox หรือพื้นที่ผ่อนปรนข้อบังคับต่าง ๆ ใน 4 ด้าน ด้วยกัน ได้แก่
1) UAV Regulatory Sandbox แห่งแรงของประเทศ สำหรับการทดลองทดสอบอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน)
2) NBTC Regulatory Sandbox สำหรับการใช้คลื่นความถี่พิเศษเพื่อการทดลองทดสอบนวัตกรรม
3) ERC Sandbox สำหรับการทดลองทดสอบเทคโนโลยีนวัตกรรมการบริหารจัดการรวมถึงการซื้อขายพลังงานระหว่างกัน
4) CAV Sandbox สำหรับการทดสอบทดลองยานยนต์ไร้คนขับภายในพื้นที่โครงการ
ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ Starup หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการจะทดสอบทดลองคอนเซ็ปต์ (Proof of Concept) ไอเดีย หรือเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ สามารถมาทดลองทดสอบภายในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ได้เต็มที่และถูกกฎหมาย
สำหรับธุรกิจ ผู้ประกอบการ หรือ Startup ที่สนใจเข้าร่วมโครงการวังจันทร์วัลเลย์ ในระยะนี้ แนะนำว่า ควรเป็นธุรกิจหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องหรือมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ของประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยเฉพาะด้าน นวัตกรรมการเกษตร เชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ แบตเตอรีประสิทธิภาพสูง และการขนส่งสมัยใหม่ การบิน และอวกาศ เครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นด้านที่ภาครัฐมอบหมายให้กับพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ในการผลักดันการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่
วังจันทร์วัลเลย์ในวันนี้ ยังคงเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็น Smart City ต้นแบบของไทย และเป็นแพลตฟอร์มแห่งการคิดค้นสร้างสรรค์ ทดสอบทดลองเทคโนโลยีนวัตกรรมของประเทศ คนไทยจะค่อย ๆ ทยอยเห็น เทคโนโลยีนวัตกรรม ของคนไทยที่พัฒนามาจากวังจันทร์วัลเลย์อย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน