หากจะพูดถึงต้นแบบของโครงการ Smart City รุ่นแรก ๆ ของประเทศไทย หนึ่งในชื่อที่ผู้คนจะนึกถึงเป็นลำดับแรก ๆ ต้องมีชื่อของ Mae Moh Smart City อยู่ด้วยอย่างแน่นอน ด้วยความมุ่งมั่นของ กฟผ. แม่เมาะ ที่พยายามผลักดันให้ชุมชนแม่เมาะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน ทั้งยังสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ช่วยแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมให้ชุมชนสามารถคงสภาพพื้นที่ป่ากว่า 80% ของอำเภอแม่เมาะให้สามารถคงอยู่ต่อไปได้อย่างสมบูรณ์ และยังร่วมวางแผนพัฒนาชุมชนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
ทีมงาน ICHI Website มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณเกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) ในหลายเรื่องหลายมิติ เริ่มตั้งแต่การแนะนำให้รู้จักกับ โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ รวมไปถึงคำแนะนำสำหรับชุมชนและหน่วยงานที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการ Smart City
หลังจาก กฟผ. แม่เมาะ ได้รับตราสัญลักษณ์ Smart City เมื่อช่วงปลายปี 2021 ในช่วงต้นปี 2022 ก็ได้จัดตั้ง “โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่” ขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะพัฒนาพื้นที่แม่เมาะในหลากหลายมิติ เหตุที่ กฟผ. แม่เมาะ เร่งทำงานแข่งกับเวลา เป็นเพราะคาดการณ์ไว้แล้วว่าถ่านหินที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะอาจหมดลงในช่วงปี 2050 เมื่อ กฟผ. แม่เมาะแบกรับหน้าที่การผลิตไฟฟ้าป้อนพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ กฟผ. แม่เมาะ ต้องเร่งหาพลังงานสะอาดมาทดแทน และการได้มาซึ่งพลังงานสะอาดนั้น ก็สามารถเชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชนแม่เมาะได้อย่างลงตัว ก่อนอื่นเราขอชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับโครงการต่าง ๆ ของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ กันให้มากขึ้นอีกสักนิด
โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ มุ่งสู่การเป็น “เมืองเศรษฐกิจ คาร์บอนต่ำ” ด้วย 3 แกนหลัก ดังนี้
Smart Environment
Smart Energy
Smart Economy
ด้วยความตั้งใจ ความใส่ใจ และความเชี่ยวชาญชำนาญการด้านพลังงานของทาง กฟผ. โครงการเชื่อมประโยชน์จาก 3 แกนหลักข้างต้นจึงได้รับการผลักดัน และดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้เป็นจำนวนมากกว่า 10 โครงการ ได้แก่
Biomass Co-Firing กฟผ. แม่เมาะ ทดลองรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อผลิตวัสดุชีวมวลอัดแท่ง นำไปผลิตไฟฟ้าร่วมกับถ่านหิน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กฟผ. แม่เมาะ รับซื้อไปแล้วมากกว่า 6,000 ตัน ในอนาคตเมื่อเปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลได้อย่าง 100% แล้ว น่าจะเพิ่มปริมาณการซื้อขึ้นมาเป็น 1.3 ล้านตัน ต่อปี ทั้งยังจะช่วยแก้ปัญหา PM 2.5 เพราะลดการเผาเปลี่ยนมาเป็นการขายให้กับทางโรงไฟฟ้า และเมื่อชุมชนเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดเป็นส่วนมาก มาเป็นการปลูกไผ่ ก็ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน ส่งผลให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน
Energy Management โครงการนี้ขับเคลื่อนด้วยแนวคิด Near Zero Energy Building โดยทาง กฟผ. แม่เมาะ ดำเนินการติดตั้ง Solar Roof Top ให้กับหน่วยงานราชการที่จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณมากก่อน จากนั้นจึงติดตั้งให้หน่วยงานราชการที่ใช้ไฟฟ้ามากเป็นลำดับรองลงไป ทำให้ในเวลานี้ ผ่านมาเพียง 1.5 ปีตั้งแต่เริ่มดำเนินการ กฟผ. แม่เมาะ ติดตั้ง Solar Roof Top พร้อมระบบแบตเตอรี่ไปแล้วเท่ากับปริมาณการใช้งานไฟฟ้า 1 ตำบลของอำเภอแม่เมาะ
EV Conversion ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสายอาชีวศึกษาด้วยการลงนามข้อตกลงร่วมกันกับวิทยาลัยเทคนิค และช่างผู้ชำนาญการด้านการดัดแปลงรถไฟฟ้า โดยทาง กฟผ. แม่เมาะ สนับสนุนรถปลดระวาง ทั้งประเภทรถกระบะ และรถจักรยานยนต์อีกจำนวน 4 คัน เพื่อให้นักศึกษาในโครงการใช้ดัดแปลงเป็นรถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งผลก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจมาก เนื่องจากรถจักรยานยนต์ 4 คันดังกล่าว คือ รถจักรยานยนต์ 4 คันแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ขณะนี้กำลังเพิ่มหลักสูตร Solar และแบตเตอรี่ สืบเนื่องจากทาง กฟผ. มุ่งเน้นให้ความสำคัญในเรื่องของ Solar จึงมีความมุ่งมั่นที่จะให้ความรู้กับคนในชุมชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
EV Bus 28 คัน ใช้งานจริงภายในโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ รถบัสพลังงานไฟฟ้าจำนวน 28 คัน ใช้งานจริงภายในบริเวณโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ ช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดภายในโครงการ
บรรยากาศงานเปิดตัวรถมินิบัสไฟฟ้า “ชาร์จไฟใส่ EV ชาร์จอากาศดีๆ ให้โลกเรา” เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2023
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะนี้เริ่มโครงการด้วยการผลิตนำร่องก่อน 50 MW คาดว่าจะเริ่มผลิตจริงได้ในช่วงปี 2025 ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นี้ จะนำไปใช้ในกิจการทำเหมืองเท่านั้น ลำดับถัดไป ทาง กฟผ. แม่เมาะ วางแผนจะปลูกพืชใต้แผง Solar พร้อมเดินระบบน้ำ และระบบบริหารจัดการ เพราะหากปลูกผักใต้แผงได้ ก็จะช่วยหยัดพื้นที่ไปได้มาก และช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย
นิคมชุมชนเกษตร นำร่องที่หมู่บ้านอพยพ ต.บ้านดง ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนที่มีข้อจำกัดในเรื่องภูมิประเทศ เพราะตั้งอยู่ติดกับเขา จึงไม่เหมาะกับการทำการเกษตร แต่ทางโครงการฯ นำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้าไปช่วย เพื่อให้สามารถเพาะปลูกได้ เช่น เทคโนโลยี Indoor Vertical Farm ซึ่งทาง กฟผ. ร่วมมือกับ Distar Fresh ข้อดีของการเพาะปลูกแบบนี้ก็คือ ใช้น้ำน้อย แต่ได้ผลผลิตมากกว่าการเพาะปลูกแบบปกติมากถึง 2-3 เท่า เพราะปลูกได้ทุกฤดูกาล ทั้งยังประหยัดพื้นที่ เพราะใช้พื้นที่ Plant Factory เพียง 40 ตารางเมตร ก็จะเท่ากับปลูกพืชออแกนิค 10 ไร่ ลำดับต่อไปทางโครงการฯ วางแผนจะทำเกษตรอินทรีย์ร่วมกับ Farmbook ซึ่งมีข้อดีอยู่ที่การมีตลาดรองรับ 100% ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาขับเคลื่อนโครงการ
Tourism Empowerment หลังจากพิจารณาร่วมกันแล้ว ทางโครงการฯ พบว่าพื้นที่แม่เมาะเหมาะกับการท่องเที่ยวเชิงกีฬา สัมผัสประสบการณ์ และสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ ทาง กฟผ. แม่เมาะ ได้จัดงานวิ่ง
Mae Moh Half Marathon ต่อเนื่องมาหลายปี จนเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักวิ่ง
ชาวไทย ทางโครงการฯ จึงวางแผนจะยกระดับสนามวิ่งของแม่เมาะให้ได้มาตรฐานสหพันธุ์ มุ่งสู่ World Athletics Road Race Label สำหรับท่านใดที่อยากลองสนามวิ่งในปีนี้
สมัครได้ที่ https://race.thai.run/maemohhalfmarathon งานวิ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ซึ่งในเดือนถัดมาก็จะมีงาน Mae Moh Festival ท่านใดกำลังมองหาที่เที่ยวในช่วงเดือนตุลาคม – เดือนพฤศจิกายน และสนใจเที่ยวในพื้นที่แม่เมาะ
สามารถเข้าชมข้อมูลได้ที่ https://www.maemohtourism.com/ อย่างไรก็ตาม จากผลการส่งเสริมการท่องเที่ยวแม่เมาะในปี 2022 กฟผ. แม่เมาะ ใช้เงินลงทุนไป 14 ล้านบาทใน 3 กิจกรรม ได้แก่ Mae Moh Half Marathon 2022 ลำปางมาราธอน และ Mae Moh Festival แต่ได้เงินทุนหมุนเวียนในพื้นที่มากถึง 191 ล้านบาท จึงอาจพูดได้ว่านี่เป็นอีกหนึ่งโครงการทำเงินของชุมชนในพื้นที่แม่เมาะเลยทีเดียว
บรรยากาศงานแถลงข่าวความพร้อมในการจัดการแข่งขันวิ่ง Mae Moh Half Marathon 2023 เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2023
เห็ดป่าคืนถิ่น พื้นที่ประมาณ 80% ของแม่เมาะ เป็นพื้นที่ป่า เพื่อรักษาพื้นที่ป่าไว้เป็นแหล่งอาหาร และสร้างความตระหนักให้ชุมชนมองเห็นความสำคัญและประโยชน์ของป่า กฟผ. แม่เมาะ จึงตั้งโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อให้ชุมชนนำเชื้อเห็ดกลับเข้าไปเติบโตในป่า คาดว่าปี 2024 น่าจะเห็นผลของโครงการนี้ชัดเจนขึ้น
CO2 Reduction เป็นโครงการวิจัยซึ่งทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้นำเทคโนโลยีเสาสูงซึ่งใช้กันอยู่ในต่างประเทศ มาตรวจประเมินผลการดูดซับและเก็บกักคาร์บอนจากโครงการปลูกป่าและฟื้นฟูป่า หากใช้เทคโนโลยีนี้แล้วได้รับผลสำเร็จร่วมกันจนได้รับการรับรอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็จะสามารถใช้เทคโนโลยีนี้กับพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากแม่เมาะได้ ถือว่าเป็นประโยชน์มาก เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ดีกว่าการวัดจากต้นไม้ทีละต้นอย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
เพิ่มมูลค่าขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงวันลาย ทุกวันนี้ตลาดในพื้นที่แม่เมาะผลิตขยะอินทรีย์ประมาณ 500 กิโลกรัมต่อวัน หากใช้ประโยชน์จากหนอนแมลงวันลาย เราจะได้ ไข่แมลงวันลาย หนอนแมลงวันลาย และปุ๋ย ประมาณวันละ 100 กิโลกรัม ชุมชนสามารถนำไข่แมลงวันลาย หนอนแมลงวันลายไปใช้เลี้ยงไก่ และใช้ปุ๋ยในการเพราะปลูกเกษตรอินทรีย์ได้ อีกทั้งโครงการนี้ยังช่วยชุมชนลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะได้ส่วนหนึ่งด้วย
แม่จางโมเดล เป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาระบบสำรวจและระบบจัดการพื้นที่ บริเวณลุ่มน้ำแม่จาง ซึ่งมักประสบภาวะน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยตรวจประเมินสุขภาพฝาย ระบบสนับสนุนการเตือนภัยน้ำท่วมน้ำแล้ง และระบบสารสนเทศสิ่งกีดขวางทางน้ำ หน่วยงานราชการสามารถใช้ data ที่ได้จากโครงการนี้ไปใช้วางแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งได้ รวมถึงชุมชนก็สามารถเข้าไปดู data ได้ที่ City Data Platform และ lampangthaiwater.net
City Data Platform โครงการนี้ทาง กฟผ. แม่เมาะทำร่วมกันกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยในปี 2022 มีการเก็บ data เรื่องอากาศ ความร้อน และไฟป่า มีจุดประสงค์เพื่อใช้ data ที่เก็บได้ในการพยากรณ์คุณภาพอากาศ สำหรับปี 2023 ทางโครงการฯ เก็บ data เรื่องขยะ ของเสีย พื้นที่สีเขียว เพื่อนำ data เหล่านั้นมาใช้วางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่การทำให้พื้นที่แม่เมาะเป็นพื้นที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 0 นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้ง Low-Cost sensor เพื่อตรวจวัด PM 2.5 PM 10 อุณหภูมิ ความชื้น ความดันบรรยากาศ ความเร็วลม ทิศทางลม อีกด้วย ซึ่ง data เหล่านี้จะนำมาใช้พยากรณ์อากาศในระดับหมู่บ้านล่วงหน้าได้มากถึง 5 วัน เป้าหมายต่อไปคือการพัฒนาให้สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 7 วัน ประโยชน์ที่ชุมชนได้รับอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ การพยากรณ์ที่แม่นยำสามารถส่งข้อความเตือนชุมชนผ่าน Line OA เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า ล่วงหน้าได้ หรือแม้กระทั่งการใช้การพยากรณ์ล่วงหน้าเหล่านี้มาวางแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของชุมชนล่วงหน้าได้อีกด้วย
จากโครงการทั้งหมดที่กล่าวมา จะสังเกตได้ว่า กฟผ. แม่เมาะ ใช้จุดแข็งด้านพลังงานมาขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างให้พื้นที่แม่เมาะมีพลังงานสะอาดใช้ และมีการทำข้อตกลงความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์หลายแห่ง เช่น สถานศึกษา หน่วยงานเอกชน เพื่อพัฒนาพื้นที่แม่เมาะในทุกมิติ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ชุมชนแม่เมาะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนในสภาพแวดล้อมที่ดี ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการ Smart City ของไทยที่น่าชื่นชม
เมื่อทีมงานขอให้ คุณเกษศิรินทร์ แปงเสน ให้คำแนะนำชุมชนหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่กำลังสนใจจะสมัครเข้าร่วมโครงการ Smart City กับทาง DEPA ก็ได้รับคำตอบว่า “บริบทของแต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างกัน สิ่งที่ควรทำเป็นลำดับแรกก็คือ หาให้เจอว่าต้องการแก้ไขปัญหาอะไร อย่างแม่เมาะเรามีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการให้ชุมชนที่นี่อยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน จากนั้นก็มุ่งสู่การแก้ไขปัญหาเหล่านั้น สำคัญคือ ต้องมี partnership เพราะการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากพาร์ทเนอร์ การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจน และความร่วมไม้ร่วมมือกัน จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาแต่ละเรื่องได้สำเร็จ”
แม้ว่าขณะนี้โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่จะทำทุกภารกิจที่ให้ไว้กับทาง DEPA ในช่วงแรกที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Smart City ได้สำเร็จครบทุกอย่างแล้ว แต่ความสัมพันธ์อันดีระหว่าง DEPA กับ Mae Moh Smart City ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดย โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ มีโอกาสทำหน้าที่เป็นเมืองต้นแบบให้กับทีมที่ทาง DEPA ส่งมาศึกษาดูงานบ่อยครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น DEPA ก็ยังช่วยประสานงานอย่างดีเสมอ เมื่อทีมศึกษาดูงานจาก Mae Moh Smart City เดินทางไปศึกษาดูงานหรืออบรม รวมทั้งแชร์ประสบการณ์ยังสถานที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ คุณเกษศิรินทร์ แปงเสน ยังได้กล่าวถึงเป้าหมายต่อไปของ Mae Moh Smart City ด้วยว่า กฟผ. แม่เมาะ วางแผนจะทำให้พื้นที่แม่เมาะเป็นเมืองเศรษฐกิจ คาร์บอนต่ำ และเป็น Power Green Area ให้ได้ในอนาคต
สำหรับท่านใดที่สนใจไปสัมผัสบรรยากาศของ Smart City แห่งแรก ๆ ของไทย สามารถท่องเที่ยวเชิงกีฬา สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ได้ในงานวิ่ง Mae Moh Half Marathon 2023 สมัครได้ที่ https://race.thai.run/maemohhalfmarathon และติดตามความข่าวสารงานวิ่งได้ที่ https://www.facebook.com/Maemohhalfmarathon โดยงานวิ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม 2023 ซึ่งตรงกับช่วงเดือนที่เมืองแม่เมาะมีอากาศเย็นสบาย วิวทิวทัศน์สวยงามพอดิบพอดี
Related Articles