AI Technology

Innovation

Digital

04.08.2023

【Smart City】Smart Home-Smart City: รู้จัก Home Automation Technology ที่ช่วยยกระดับการดูแลผู้สูงอายุ

หากพูดถึง Smart City หลายคนคงนึกถึงการปรับรูปแบบเมืองให้มีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการปัญหาในระดับสาธารณประโยชน์ เช่น การคมนาคม การจราจร การจัดสรรนำ้ การแจ้งเตือนสภาพอากาศ ฯลฯ แต่การที่เมืองจะกลายเป็นเมืองอัจฉริยะที่สมบูรณ์ครบองค์ได้นั้น ยังมีอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญนั่นคือการเริ่มต้นใช้เทคโนโลยีภายในบ้านหรือทำ Smart Home

แล้ว Smart Home คืออะไร การเริ่มต้นทำ Smart Home หรือใช้ระบบ Home Automation จะไปตอบโจทย์การพัฒนาเมืองเป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างไร?

บทความนี้ ชวนมาทำความรู้จักเทคโนโลยี Smart Home ในมิติที่หลากหลายมากขึ้นกับ คุณพิมพ์ชนก วรวัฒนนนท์, Chief Product Owner – Well-Being บริษัท Nexter Living ผู้พัฒนา DoCare ระบบ Smart Living ที่เป็นมากกว่า Home Automation ที่ดูแลการเปิด-ปิดไฟ ภายในบ้านแต่สามารถช่วยยกระดับการดูแลสังคมผู้สูงวัยได้ด้วย

Smart Home คืออะไร

Smart Home หรือบ้านอัจฉริยะ คือ การนำเอาระบบเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาใช้ภายในบ้านเพื่อยกระดับการอยู่อาศัยให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะจากการสั่งการด้วยเสียงหรือผ่านแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์พกพาที่สะดวกง่ายแค่ปลายนิ้ว

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงระบบ Home Automation ที่ช่วยให้อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในบ้านทำงานด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องออกคำสั่ง ยกตัวอย่างเช่น ระบบเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ภายในบ้านที่คอยเปิดประตู เปิดไฟ หรือเปิดเครื่องปรับอากาศให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งในปัจจุบันหลาย ๆ บ้านก็เริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยีข้างต้นกันแล้ว

แต่นอกเหนือจากการเปิด-ปิดไฟหรือผ้าม่านแล้ว อีกขั้นของการทำ Smart Home และ Home Automation คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมต่อหรือ Integrate กับชีวิตมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีภายในบ้านเพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยและสุขภาพของผู้อยู่อาศัย โดยในประเทศไทยก็มีผู้ประกอบการรายหนึ่งที่เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้ พร้อมกับตระหนักถึงการรองรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จึงได้นำเทคโนโลยีเข้ามา ช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
DoCare และเทคโนโลยี Home Automation ที่ช่วยดูแลผู้สูงวัย

DoCare คือ ผู้ช่วยในการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยให้กับคนในครอบครัว ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้การใช้ชีวิตดียิ่งขึ้น ตามสโลแกนที่ว่า “Smart Technology for Healthy Living” ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะของผู้สูงอายุ โดยจุดเริ่มต้นของ DoCare เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นถึงปัญหาความปลอดภัยและสุขภาพของผู้สูงอายุ จากการที่ผู้สูงอายุในหลายบ้านอาจเกิดอุบัติเหตุพลัดตก หกล้ม ภายในบ้าน ในขณะที่ลูกหลานออกจากบ้านไปทำงาน ไม่มีคนดูแล

ผลเสียของการที่ผู้สูงอายุอยู่เพียงลำพังแล้วเกิดอุบัติเหตุนั้น นอกจากผู้สูงอายุจะบาดเจ็บแล้ว ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาต่าง ๆ ที่ตามมา ที่เป็นความรับผิดชอบของสมาชิกในครอบครัวอีก DoCare เล็งเห็นความสำคัญของการป้องกันปัญหา และพยายามแก้โจทย์ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทำให้บ้านมีความ Smart มากขึ้น ให้ตอบโจทย์ทั้งตัวผู้สูงอายุและสมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้ดูแล

DoCare เล็งเห็นว่า ประเทศไทยควรมีเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยผู้สูงอายุที่ทัดเทียมกับต่างประเทศ ประกอบกับปัจจุบันเทคโนโลยีมีความพร้อมที่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ อีกทั้ง ราคาของอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ พวกเราที่เป็นลูกหลานที่ต้องการดูแลพ่อแม่จึงได้มารวมตัวกัน ก่อตั้งทีม DoCare ซึ่งเป็นสตาร์ตอัปขนาดเล็กขึ้น เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ให้บริการ เพื่อยกระดับการดูแลผู้สูงอายุในสังคมไทย

นอกจากนี้ ยังมองว่า วันหนึ่ง พวกเราเองในฐานะผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงสูงวัยในอนาคต ก็ต้องได้ใช้เอง และสิ่งนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์จำเป็นภายในบ้านที่ต้องมีเฉกเช่นในหลายประเทศที่เริ่มมีอุปกรณ์ Smart Home สำหรับแจ้งเตือนอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้สูงอายุและเทคโนโลยีดูแลสุขภาพอื่น ๆ ที่มีติดตามบ้านทั่วไป

เทคโนโลยีจาก DoCare ช่วยยกระดับการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างไรบ้าง
เทคโนโลยี Smart Home ของ DoCare จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักด้วยกัน ได้แก่ โซลูชันที่ช่วยแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน และโซลูชันที่ช่วยดูแลสุขภาพของผู้อยู่อาศัย

1. เทคโนโลยี Smart Home สำหรับแจ้งเตือนกรณีฉุกเฉิน (Emergency)

จากปัญหาหลักของผู้สูงอายุระหว่างที่ลูกหลานไม่อยู่ สิ่งที่น่ากังวลคืออุบัติเหตุจากการพลัดตกหกล้มภายในบ้านขณะที่อยู่เพียงลำพัง DoCare จึงได้ออกแบบอุปกรณ์ที่คอยช่วยแจ้งเตือนและขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุเพื่อป้องกันและลดความสูญเสียขึ้น

Home safety ชุดอุปกรณ์เซนเซอร์ เพื่อติดตามสุขภาพและขอความช่วยเหลือ คล้ายกับปุ่มฉุกเฉินเรียกพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาล สำหรับในกรณีที่ผู้สูงอายุต้องการความช่วยเหลือหรือเกิดเหตุอะไรขึ้น ช่วยให้ครอบครัวทราบสถานการณ์ทันที พร้อมกับบริการ Care Center ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชม.

Anywhere Safety ปุ่มกด SOS ขอความช่วยเหลือแบบพกพาสำหรับผู้สูงอายุที่ยังออกมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายนอกบ้านด้วยตัวเอง (Active Elder) ผู้ใช้สามารถกด SOS ขอความช่วยเหลือได้ หรือในกรณีหมดสติ ก็มีระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับการล้มอัตโนมัติและส่งข้อความให้กับครอบครัวทราบทันที พร้อมบริการทีมฉุกเฉินให้ความช่วยเหลือ

Smart Fall Detection Radar เรดาร์ตรวจจับการล้มภายในบ้าน สำหรับติดตั้งในพื้นที่ปิด เช่น ห้องน้ำ ห้องนอนส่วนตัว ช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัย เมื่อเกิดการหกล้มหรือหมดสติขึ้นภายในบ้าน ระบบจะแจ้งเตือนไปยังสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวและ Care Center ของ DoCare โดยทันที

2. เทคโนโลยีที่ช่วยดูแลสุขภาพ DoCare Wellness Home Hub

นอกจากอุปกรณ์สำหรับแจ้งเตือนอุบัติเหตุแล้ว DoCare ยังมีอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ที่ช่วยดูแลสุขภาพให้กับผู้สูงอายุหรือผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน ที่ต้องการการดูแลสุขภาพแบบต่อเนื่องด้วย โดยในเซ็ตอุปกรณ์จะประกอบไปด้วย

● เครื่องวัดความดัน
● เครื่องวัดออกซิเจน
● เครื่องวัดน้ำตาล
● เครื่องวัดอุณหภูมิ
● เครื่องชั่งน้ำหนัก
● เครื่องแท็บเล็ตสำหรับทำหน้าที่เก็บข้อมูลสุขภาพจากอุปกรณ์วัดค่าสุขภาพดังกล่าวข้างต้นเข้าสู่ระบบ

โซลูชัน DoCare Wellness Home Hub มีระบบเก็บข้อมูลสุขภาพอัตโนมัติส่งตรงถึงแพทย์ โรงพยาบาล หรือศูนย์ดูแลสุขภาพต่าง ๆ ได้ และสามารถเชื่อมต่อกับระบบ Tele-Medicine ให้ผู้อาศัยติดต่อกับแพทย์จากที่บ้านได้ ช่วยให้ไม่เสียเวลาเดินทางและลดการรับเชื้อโรคจากสถานที่เสี่ยง

ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องคอยติดตามข้อมูลสุขภาพอย่างใกล้ชิด เช่น ผู้มีปัญหาความดันโลหิต ผู้ป่วยเบาหวาน รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดสมอง (Post-Stroke)

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุปกรณ์สำหรับสวมใส่ (Smart Wearable) ที่เข้ามาติดตามอัตราการเต้นของหัวใจ นับจำนวนก้าวเดิน หรืออุปกรณ์ที่ใส่ที่นิ้วซึ่งสามารถวัดคุณภาพการนอนหลับได้ เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเห็นว่า Home Automation นอกจากจะอำนวยเรื่องความสะดวก อำนวยเรื่องความปลอดภัยแล้ว ยังสามารถใช้ดูแลสุขภาพต่อเนื่องและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันได้อีกด้วย

เนื่องจากต้นเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพมักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวัน หากข้อมูลสุขภาพผิดปกติ แพทย์หรือผู้ให้บริการทางการแพทย์ (Healtcare Provider) ที่แลกเปลี่ยนข้อมูลกับระบบของ DoCare ก็จะทราบได้ทันที และให้คำแนะนำหรือให้ความช่วยเหลือผ่านฟีเจอร์ Tele-medicine ได้

ประโยชน์ของเทคโนโลยี Smart Home จาก DoCare

ด้วยเทคโนโลยี Smart Home for Healthy Living จาก DoCare ทั้งในกลุ่มของ Smart Home แจ้งเตือนเหตุและในกลุ่มส่งเสริมสุขภาพ มีกลุ่มคน 3 กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยกัน

● ประโยชน์ต่อผู้สูงอายุหรือผู้ใช้งาน เทคโนโลยี Smart Home ของ DoCare เข้ามาช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดความสูญเสียเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น การหมดสติและการหกล้มเพียงลำพังได้
● ประโยชน์ต่อครอบครัว ช่วยให้ครอบครัวและผู้ดูแลอุ่นใจว่า เมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นจะทราบทันที พร้อมกับมี Care Center ที่ให้บริการโดยผู้เชี่ยวชาญ (Professional Partner) คอยให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น รวมไปถึงการมีอุปกรณ์ช่วยดูแลสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ
● ประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวม เมื่อสามารถป้องกันเหตุอุบัติเหตุและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุลงได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนในการดูแลรักษาผู้ป่วยในระดับประเทศได้ นอกจากนี้ Smart Home จาก DoCare ยังมีส่วนช่วยยกระดับการดูแลผู้สูงอายุในสังคมผู้สูงอายุให้ดีขึ้นอีกด้วย

การผลักดัน Smart Home for Healthy Living สู่ Smart City

การผลักดันและส่งเสริมให้เกิด Smart Home โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากหลายครอบครัวไม่เข้าใจว่า อุปกรณ์แจ้งเตือนภัยหรือเทคโนโลยีที่เข้ามาส่งเสริมสุขภาพมีความจำเป็นอย่างไร จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุขึ้น จึงค่อยเริ่มมองหาอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้งาน

สิ่งที่ DoCare กำลังทำ คือ การพยายามสร้างการรับรู้ถึงความจำเป็นในเชิงการป้องกันเหตุก่อนสาย โดย DoCare มองว่า โซลูชันเหล่านี้ คล้ายกับระบบตัดไฟอัตโนมัติหรือ Safety Cut ที่เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ป้องกันเหตุไฟไหม้จากไฟฟ้ารั่วไหล ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีบ้านไหนที่อยากให้ระบบทำงาน แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันความสูญเสียได้

ในปัจจุบัน DoCare พยายามผลักดันเทคโนโลยีและโซลูชัน Smart Technology for Healthy Living ให้เข้าถึงกลุ่มคนในวงกว้างมากขึ้น โดยลูกค้าสำคัญของ DoCare จะมีลูกค้าใน 3 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้

1) โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Residence) ของเอกชน ที่ใช้ระบบ Home safety สำหรับแจ้งเตือนเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้อยู่อาศัย รวมถึงมี “มุมสุขภาพ” ตรวจวัดค่าสุขภาพต่าง ๆ เป็นประจำ
2) โรงพยาบาลและผู้ให้บริการทางการแพทย์ (Healthcare Provider) ที่คอยติดตามสุขภาพของผู้ป่วยหรือผู้รับบริการผ่านระบบ Tele-medicine และอุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพต่าง ๆ
3) กลุ่มลูกค้าทั่วไป ที่ติดตั้งระบบ Smart Home แจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินให้กับพ่อแม่หรือผู้สูงอายุในบ้าน พร้อมกับอุปกรณ์ตรวจวัดค่าสุขภาพที่เปรียบเสมือนตัวช่วยดูแลสุขภาพให้กับผู้อยู่อาศัย

ทั้งนี้ นอกจากการให้บริการลูกค้าทั้งสามกลุ่มข้างต้นแล้ว DoCare ยังพยายามมองหาโอกาสในการส่งต่อเทคโนโลยีและโซลูชันให้เข้าถึงผู้คนในวงกว้างมากขึ้น ผ่านการนำเสนอเทคโนโลยี Smart Home เข้าไปในขบวนการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City รวมถึงการร่วมมือกับบริษัทประกันภัย ในการนำอุปกรณ์ Smart Device จาก DoCare ให้เป็นอีกหนึ่งบริการที่ลูกค้าประกันชีวิตจะได้รับ โดยที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนอกเหนือจากเบี้ยประกัน

หากความตั้งใจของ DoCare สำเร็จขึ้นได้ในเร็ววัน เชื่อว่า เทคโนโลยี Smart Home จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุขึ้นได้ พร้อมเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยทำให้เมืองไทยกลายเป็น Smart City ที่สมบูรณ์ได้ในอนาคตอันใกล้นี้

Related Articles

RECOMMEND