Leadership

Innovation

Digital

06.02.2023

รายงาน Global Digital 2023 ที่คนไทยเป็นอันดับต้น ๆ ในหลายด้าน แล้วเราควรวางแผนลงทุนไอทีอย่างไร

รายงาน Global Digital 2023 ที่คนไทยเป็นอันดับต้น ๆ ในหลายด้าน แล้วเราควรวางแผนลงทุนไอทีอย่างไร

หลายครั้งที่ผ่านมา ICHI Website ได้รับเกียรติจาก ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) มาให้ข้อมูลความรู้อันเป็นประโยชน์ในหัวข้อต่าง ๆ อยู่เสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกัน ICHI Website ได้รับเกียรติให้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับ Global Digital 2023 ซึ่งเขียนโดย ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ นอกจากจะมีเนื้อหาที่น่าสนใจแล้ว ยังเป็นเหมือนเข็มทิศช่วยบอกทิศทางกับองค์กรในไทย ว่าควรจะวางแผนลงทุนด้านไอทีอย่างไรในปี 2023 นี้อีกด้วย

รายงาน Global Digital 2023 ที่คนไทยเป็นอันดับต้นๆในหลายด้าน แล้วเราควรวางแผนลงทุนไอทีอย่างไร
บทความโดย ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์

ทุกๆปี We are social ซึ่งเป็นเอเจนซีทางด้านโซเชียลมีเดีย จะทำรายงานประจำเกี่ยวกับสรุปสถิติการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั่วโลก โดยรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งอัตราการใช้อินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ที่ผู้ใช้ใช้เพื่อเข้าถึงเนื้อหาและบริการดิจิทัล พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต การใช้สื่อสังคมออนไลน์ การใช้แอพพลิเคชันต่างๆ ตลอดจนการใช้อีคอมเมิร์ช การชำระเงินออนไลน์และการโฆษณาดิจิทัล ล่าสุดทางบริษัทได้ร่วมกับ Meltwater ออกรายงาน “Digital 2023 Global Overview Report” มาเมื่อปลายเดือนมกราคม ซึ่งมีเนื้อหาเป็นสไลด์กว่า 400 หน้า

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกล่าสุดมีจำนวน 5,158 ล้านคน คิดเป็น 64.4% ของประชากรทั้งโลก โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ตถึงคนละ 6 ชั่วโมง 37 นาทีต่อวัน ซึ่งพบว่าน้อยกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 6 ชั่วโมง 58 นาทีต่อวัน โดยประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 61.21 ล้านคน คิดเป็นอัตราส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 85.3% ติดอันดับที่ 34 ของโลก แต่เราใช้เวลาในการเล่นอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูง ถึง 8 ชั่วโมง 06 นาทีต่อวันติดอันดับที่ 9 ของโลก แต่ก็ลดลงจากปีก่อนที่ใช้ถึง 9 ชั่วโมง 06 นาทีต่อวัน ทั้งนี้ปีนั้นมีการใช้กันมากเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

อุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่คนทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะมาจากมือถือที่คิดเป็น 92.3% เมื่อเทียบกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ 65.6% ซึ่งลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 71.2% แสดงให้เห็นว่าคนเริ่มใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าถึงอินเทอร์เน็ตลดลงอย่างต่อเนื่อง และที่น่าสนใจอย่างมากก็คือคนไทยติดอันดับที่ 4 ของโลกที่ใช้เวลาเฉลี่ยการเล่นอินเทอร์เน็ตจากมือถือที่ 5 ชั่วโมง 05 นาทีต่อวัน แต่ก็ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่อันดับ 2 ของโลกใช้เวลาเฉลี่ย 5 ชั่วโมง 28 นาทีต่อวัน โดยที่ฟิลิปปินส์ยังครองเป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตจากเครื่องคอมพิวเตอร์คยไทยใช้เวลาเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 01 นาทีต่อวัน

ส่วนในด้านความเร็วของอินเทอร์เน็ตตามบ้านพบว่าอันดับโลกของประเทศไทยลดลงจากที่เคยติดอันดับสองลงมาอยู่ที่อันดับที่สี่ โดยมีความเร็ว 205.63 Mbps ส่วนสามอันดับแรกคือ ชิลี จีน และสิงคโปร์ ส่วนความเร็วของอินเทอร์เน็ตทางมือถือของประเทศไทยอยู่ที่ 37.85 Mbps ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 33.97 Mbps ไม่มากนัก

ในรายงานระบุว่าผู้คนทั่วโลกเข้าเว็บไซต์หรือเล่นแอปต่างๆเพื่อที่ พูดคุยหรือส่งข้อความหาเพื่อนสูงถึง 94.8% ตามมาด้วยการใช้โซเชียลมีเดีย 94.6% และการค้นหาข้อมูล 81.8% อันดับที่สี่คือการดูและสินค้าออนไลน์ 76% การค้นหาสถานที่หรือดูแผนที่ 55% การใช้อีเมล 48.9% การฟังเพลง 46.3% ตืดตามข่าวสาร 41.4% การเล่นเกมส์ 34.3% และเพื่อการศึกษาเพียง 23.8%

รายงาน Digital 2023 แม้มีข้อมูลพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต สถิติเว็บไซต์ยอดนิยม การเข้าชม NetFlix หรือการฟังเพลงจาก Spotify ตลอดจนการค้นหาข้อมูลต่างๆ แต่ก็ยังเป็นภาพรวมทั่วโลก ยังไม่ได้แยกให้เห็นสถิติเป็นรายประเทศซึ่งโดยมากทาง We are social จะออกรายงานของแต่ละประเทศตามหลังมากอีก แต่เท่าที่เห็นสถิติที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยที่มาจากการสอบถามข้อมูลผู้ช่วงอายุระหว่าง 16 -64 ปีทั่วโลก ของ GWI.com มีข้อมูลที่น่าสนใจในหลายเรื่อง อาทิเช่น

คนไทยติดอันดับสี่ของโลกในการเล่นวิดีโอเกมส์จากทุกอุปกรณ์ โดยมีจำนวน 94% ของจำนวนผู้สอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ต โดยอันดับหนึ่งคือประเทศฟิลิปปินส์ ตามด้วยอินโดนีเซียและเวียดนาม ขณะทีค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 81.9% ทั้งนี้ปีก่อนไทยอยู่อันดับสองของโลก

คนไทยใช้ QR Code ติดอันดับห้าของโลกจากการสแกนในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมีอัตราผู้ใช้ต่อเดือนสูงถึง 54.1% ทั้งนี้สามอันดับแรกคือ ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน ขณะทีค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 44.6%

คนไทยติดอันดับสี่ของโลกในการถือของเงินสกุลคริปโทฯมีจำนวน 21.9% แต่ก็ตกลงมาจากปีก่อนซึ่งเราเคยอยู่ในอันดับที่หนึ่ง (จำนวน 20.1%) โดยสามอันดับแรกคือ ตุรเคีย อาร์เจนติน่า และฟิลิปปินส์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 11.9% แต่ทั้งนี้เราจะมีค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายเงินสกุลคริปโทฯต่อคนเพียง 73.81 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 135 ดอลลาร์ ขณะที่ประเทศที่จะมีการใช้จ่ายเงินสกุลคริปโทฯติดอันดับต้นๆคือ สวิสเซอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ ที่มีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนมากกว่า 750 ดอลลาร์

คนไทยยังคงติดอันดับหนึ่งของโลกเป็นปีที่สองติดต่อกันในการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นประจำทุกสัปดาห์โดยมีจำนวน 66.8% ของจำนวนผู้สอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ตนำหน้าประเทศอย่าง เกาหลีใต้ ตุรเคีย เม็กซิโก และชิลี ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 57.6% แต่เมื่อดูมูลค่าเฉลี่ยในการซื้อสินค้าทางอีคอมเมิรซ์แล้วประเทศมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกมาก โดยมีมูลค่าเพียง 491 ดอลลาร์ เทียบกับค่าเฉลี่ย 873 ดอลลาร์

คนไทยติดอันดับหนึ่งของโลกคู่กับเกาหลีใต้ในการซื้อสินค้าสดหรือของชำออนไลน์เช่นการสั่งสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ โดยมีจำนวน 45.2 % ของจำนวนผู้สอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ตนำหน้าประเทศอย่าง ตุรเคีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 28.3%

คนไทยติดอันดับห้าของโลกในการชำระเงินผ่านมือถือ โดยมีจำนวน 33.5% ของจำนวนผู้สอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ต โดยมีไต้หวัน ฮ่องกง เดนมาร์ก และ ซาอุดิอาระเบียที่มีอันดับดีกว่าขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 25%

นอกจากนี้รายงานยังระบุว่าคนไทยมีการใช้ออนไลน์วิดีโอเพื่อการศึกษา ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยอยู่ที่ 32.7%% ติดอันดับที่ 39 ของโลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 43.4% ขณะที่ประเทศอย่าง ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ และ อินโดนีเซีย ติดสี่อันดับแรกของโลก สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของเขายังเน้นไปในด้านการศึกษา

คนไทยให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้งานในทางที่ไม่เหมาะสมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกมาก โดยอยู่ที่ 27.3% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 32.9% สะท้อนให้เห็นว่าเรายังตระหนักในเรื่องของความข้อมูลส่วนบุคคลค่อนข้างต่ำ

จากข้อมูลในรายงานได้สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านอินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างดี ประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และมีจำนวนผู้ใช้อืนเตอร์เน็ตที่ค่อนข้างสูง แต่ก็มีความน่าเป็นห่วงว่าคนไทยใช้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ตและอยู่กับมือถือมากเกินไป สูงกว่าหลายประเทศในโลก และเน้นไปที่ความบันเทิง การเล่นเกมส์ มากกว่าการค้นข้อมูลด้านการศึกษา แต่ก็น่าสนใจที่ว่าคนไทยหันมาให้ความสำคัญการด้านการเงินมากขึ้น ทั้งด้านการชำระเงินและการถือครองคริปโทฯ

อย่างไรก็ตาม เราควรต้องหาแนวทางที่ให้คนของเราใช้เวลากับโลกออนไลน์ให้น้อยลง และเน้นใช้เพื่อการทำงานมากกว่านี้ จึงจะมั่นใจได้ว่า เราใช้เทคโนโลยีได้เหมาะสม และนำไปใช้ เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศได้

ในการนี้สถาบันไอเอ็มซีและบริษัท ออพติมุส (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้สังเคราะห์องค์ความรู้ดังกล่าวออกมาเป็น “Digital Trends 2023 Lesson Learned from the use of Emerging Technologies” งานสัมมนาที่ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ที่ผ่านการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญรอบด้าน เพื่อให้องค์กรสามารถนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไปได้

“Digital Trends 2023 Lesson Learned from the use of Emerging Technologies” จะนำเสนอแนวทางในการจัดทำโครงการไอทีและเทคโนโลยีดิจิทัลภายในองค์กรให้ประสบความสำเร็จ ตลอดจนให้แนวคิดในการเลือกและตัดสินใจลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ ตลอดจนวิธีการสร้างมุมมอง สร้างวัฒนธรรมองค์กร และทักษะที่จำเป็นต่อบุคลากรภายในองค์กร เพื่อให้องค์ประกอบด้านเทคโนโลยี องค์กร และบุคลากร มีความพร้อมที่สอดคล้องกันอย่างกลมกลืน

โดยในงานสัมมนาดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ จะช่วยเปิดมิติการเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตโดยองค์กรไม่ต้องมีประสบการณ์ความล้มเหลวจริง แต่จะเรียนและรู้จากเนื้อหาในงานที่ได้สังเคราะห์มาให้แล้ว

RELATED ARTICLES

RECOMMEND