Metaverse

COVID-19

Leadership

Innovation

Digital

12.10.2022

【Metaverse】เตรียมพร้อมสู่โอกาสความสำเร็จที่เหนือกว่าทางธุรกิจบนโลก Metaverse

เตรียมพร้อมสู่โอกาสความสำเร็จที่เหนือกว่าทางธุรกิจบนโลก Metaverse

หากเอ่ยถึงเทคโนโลยีที่คนทำธุรกิจหรือแม้กระทั่งบริษัทใหญ่ ๆ ระดับโลกอย่าง Facebook, Microsoft, Google, Apple, Amazon ให้ความสนใจ คงไม่พ้น ‘Metaverse’ ซึ่งมีหลายแห่งประเมินว่าเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างรายได้อย่างมหาศาลและส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างไม่มีใครคาดคิด

ภาพรวมของ Metaverse และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

คุณอัมพรสักก์ อังคทะวานิช กรรมการผู้จัดการบริษัท ครีเอทีฟ ดิจิทัล ลีฟวิ่ง จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการแอนนิเวิร์ส ได้อธิบายภาพรวมการทำงาน Metaverse หรือโลกเสมือนจริงว่าเป็นการทำกิจกรรมผ่านการใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เชื่อมต่อกับโปรแกรมเพื่อให้ผู้ใช้งานเห็นภาพเสมือนว่าอยู่อีกโลก โดยคุณอัมพรสักก์ ได้แบ่งกลุ่มของ Metaverse ไว้ด้วยกัน 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

1. Traditional Metaverse กลุ่มเทคโนโลยีที่เกิดมานาน โดยมีการทำงานผ่านกิจกรรมในลักษณะต่าง ๆ เช่น การเล่นเกม เป็นต้น

2. New Technology Metaverse กลุ่มเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Web 3.0 หรือ Blockchain ที่มาทลายข้อจำกัดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่อาจหายไปตามกาลเวลา โดยทำให้เนื้อหาที่ถูกสร้างบนระบบ Metaverse คงอยู่ตลอดไป

“หากต้องการสร้างเวิร์ส นอกจากนักพัฒนาควรมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเขียนโปรแกรมร่วมด้วย เช่น Smart Contract มีการเขียนภาษา Solidity เพื่อทำงานบนระบบ Blockchain หรือ Gamification มีการเขียนภาษา C++ , C# เพื่อทำงานร่วมกับโปรแกรม Unity”

* Solidity คือภาษาด้านการเขียนโปรแกรมสำหรับการเขียน Smart Contracts บนระบบ Blockchain

** ภาษา C++, C# คือภาษาในการเขียนโปรแกรมบนระบบคอมพิวเตอร์ทั่วไป

การมาของ Metaverse ช่วยปลดล็อกธุรกิจหรือประเทศไทยอย่างไร

คุณอัมพรสักก์ ได้เปรียบเปรยไว้ว่าการมาของ Metaverse เหมือนกับการเริ่มต้นทำเว็บไซต์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมาช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์หรือการขายสินค้า แต่ปัจจุบันมีการทำเว็บไซต์กันอย่างแพร่หลาย เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย และอนาคต Metaverse ก็จะเป็นแบบนั้นเช่นกัน

ทั้งนี้คุณอัมพรสักก์ อธิบายเพิ่มเติมว่าสิ่งที่ Metaverse แตกต่างจากเว็บไซต์ คือการสร้างประสบการณ์รับรู้จากอุปกรณ์ เช่น แว่น VR เทคโนโลยี AR เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการปลดล็อกธุรกิจให้เข้าถึงลูกค้าอย่างไร้ขีดจำกัด และช่วยสร้างประสบการณ์การสัมผัสแบบเสมือนจริง

การสร้างรายได้ใน Metaverse

แน่นอนว่า Metaverse จะสร้างเม็ดเงินแก่ธุรกิจไม่มากก็น้อย โดยคุณอัมพรสักก์ ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า การสร้างรายได้จาก Metaverse สามารถทำได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรม แคมเปญบนโลกเสมือนจริง หรือการนำ NFT มาสร้างมูลค่าธุรกิจ แม้กระทั่งการซื้อที่ดินบนเวิร์ส เพื่อสร้างชุมชนชอปปิงออนไลน์โดยถอดแบบโลกจริงเข้าไปอยู่บน Metaverse ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การซื้อสินค้าได้เหมือนกับอยู่ในช้อป โดยมีพนักงานเสมือนจริงให้การบริการ ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นการขายได้ดีเช่นกัน

ประเทศไทยพร้อมหรือยังกับ Metaverse

คุณอัมพรสักก์ กล่าวว่า Metaverse ยังคงเป็นเรื่องที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ต้องเตรียมพร้อม แต่ทั่วโลกกำลังค้นหาแนวทางที่จะตอบโจทย์ต่อการทำธุรกิจมากที่สุดอยู่เช่นกัน

“มองว่าในตอนนี้ประเทศไทยถือว่าพร้อมที่จะเริ่มต้นแล้วสำหรับการเข้าสู่ Metaverse แล้ว แต่ควรเริ่มจากศึกษาระบบและเทคโนโลยีเบื้องต้นก่อนจะไปใช้กับธุรกิจ เพราะในช่วงแรกอาจจะยังมีความเสี่ยงในแง่การลงทุนอยู่”

ในด้านการกระแสตอบรับของธุรกิจที่ประกาศว่ากำลังก้าวสู่ Meataverse คุณอัมพรสักก์ ให้ข้อมูลว่าการตอบรับเชิงสถิติยังไม่มีออกมาอย่างชัดเจน แต่จะเป็นในด้านการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ การเข้าถึงแบรนด์ที่มากขึ้นมากกว่า และถ้าเปรียบเทียบ Metaverse ประเทศไทยและต่างประเทศ คุณอัมพรสักก์ มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่สู้ได้ เพียงแต่ขาดโอกาสในการหาช่องทางเผยแพร่ผลงาน หากธุรกิจสามารถสร้างการรับรู้ในวงกว้างได้ก็จะเพิ่มโอกาสที่นักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนและสนับสนุน

พาร์ตเนอร์หรือนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse มาจากไหน

สำหรับธุรกิจที่เริ่มต้นหรือมีโครงการเกี่ยวกับ Metaverse คุณอัมพรสักก์ แนะนำแนวทางในการมองหานักลงทุนโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมกับธุรกิจที่มี Metaverse อยู่แล้ว
ในกลุ่มนี้ผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจในเรื่องของ Metaverse อย่างละเอียดว่าแต่ละเวิร์สมี Road Map อะไร และวัตถุประสงค์สำหรับการสร้างเวิร์สทำเพื่ออะไร เช่น โครงการ Aniverse ต้องการมุ่งเน้นเรื่องการศึกษาโดยจับมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีกลุ่มเป้าหมายช่วงอายุ 18-25 ปี ซึ่งข้อมูลโครงการเหล่านี้จะช่วยประกอบการตัดสินใจว่าเวิร์สนั้น ๆ ตอบโจทย์กับธุรกิจ และไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่

2. ผู้ประกอบการต้องการสร้าง Metaverse ของตนเอง
ผู้ประกอบการต้องหานักพัฒนาเพื่อเขียนระบบ Metaverse ของตนเอง แต่ในตอนนี้มองว่ายังไม่เหมาะ เพราะอาจเป็นการลงทุนที่สูงเกินไป เนื่องจากทั้งหมดยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น

หาก Metaverse อยู่ในช่วงเริ่มต้น ธุรกิจควรเข้าไปลงทุนหรือไม่

การนำเงินไปลงทุนกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในช่วงที่ยังเป็นระยะเริ่มต้นแน่นอนว่าย่อมมีความเสี่ยง แต่ในมุมมองของคุณอัมพรสักก์ มองเรื่องนี้ว่าเราทุกคนต้องปรับตัวพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางธุรกิจ โดยยกตัวอย่างเรื่องของเว็บไซต์ว่าหากธุรกิจคู่แข่ง พัฒนาเว็บไซต์หรือทำโซเชียลมีเดียจนประสบความสำเร็จ แต่เราค่อยมาเรียนรู้จากคู่แข่งก็อาจไม่ทัน ดังนั้นธุรกิจต้องมองหาโอกาสจากจุดเล็ก ๆ ว่าจะเติบโตอย่างไร เช่นเดียวกันกับ Metaverse หากธุรกิจมองเห็นโอกาสในโลกเสมือนจริงได้ ก็จะทำให้ดึงมาปรับใช้ทำให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างก้าวกระโดดได้เช่นกัน

“เราสามารถเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นได้อดีตได้ อย่างเทคโนโลยีเมื่อมีอะไรใหม่เข้ามาและธุรกิจเห็นโอกาสก็จะช่วยส่งเสริมธุรกิจ แต่หากธุรกิจไม่ปรับตัว ไม่เรียนรู้ก็อาจทำให้อยู่ไม่รอดในยุคที่เปลี่ยนแปลงไป”

อนาคต Metaverse ในประเทศไทย และแนวทางการเตรียมพร้อม

คุณอัมพรสักก์ กล่าวว่า ในอนาคตเราจะมีเวิร์สมากขึ้นเรื่อย ๆ มีโรงเรียนสอนเรื่องนี้กันมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าทุกเวิร์สจะประสบความสำเร็จต้องดูกลยุทธ์ที่วางแผนว่าตอบโจทย์กับธุรกิจแค่ไหน และสำหรับภาคธุรกิจในประเทศไทยคุณอัมพรสักก์ ได้ให้แนวทางการเตรียมพร้อมสำหรับผู้ที่จะก้าวสู่โลก Metaverse หลัก ๆ ด้วยกัน ดังนี้

1. ลงสนามจริงลองเล่นแต่ละเวิร์สว่ามีอะไรที่น่าสนใจ เพื่อดูสิ่งที่จะตอบโจทย์กับธุรกิจ

2. ศึกษา Whitepaper เอกสารของแต่ละเวิร์ส เพื่อเห็น Road Map การทำงานว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

3. วิเคราะห์เวิร์สว่าสอดคล้องกับธุรกิจและสามารถนำมาปรับใช้ในด้านไหน

“Metaverse ไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างรายได้หรือการทำการตลาดให้ธุรกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาบริหารจัดการเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับคนในองค์กรมากขึ้นด้วย อย่างแพลตฟอร์ม Gather Town ที่จำลองโลกเสมือนในออฟฟิศให้การทำงานมีความสนุก และคนในองค์กรมีการโต้ตอบกันสม่ำเสมอโลกเสมือนจริงก็ทำสิ่งนี้ได้เช่นกัน” คุณอัมพรสักก์กล่าวทิ้งท้าย

RECOMMEND