COVID-19

Startups

Leadership

Innovation

21.09.2022

【ICHI TALK】moreloop สตาร์ตอัพรักษ์โลก ขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้แนวคิด Circular economy

【ICHI TALK】 moreloop สตาร์ตอัพรักษ์โลก ขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้แนวคิด Circular economy

รายการ “ICHI TALK” เชิญชวนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพในไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความหลงใหลในธุรกิจ และร่วมแชร์ประสบการณ์ รวมถึงข้อคิดดี ๆ ที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรพลาด

ผู้ดำเนินรายการ: วันนี้รายการของเราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ซึ่งก็คือ การนำทรัพยากรที่เหลือใช้กลับมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผ่านทางการพูดคุยกับคุณพล อมรพล หุวะนันทน์ CEO & Co-Founder ของบริษัท moreloop ค่ะ ก่อนอื่นอยากให้คุณพลช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยว่า moreloop คืออะไร แล้วทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไรคะ

คุณพล: moreloop เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ซื้อขายผ้า ซึ่งเป็นผ้าส่วนเกินที่เรารวบรวมมาจากหลาย ๆ โรงงาน ทำให้เราเป็นตลาดขายผ้าได้โดยไม่ต้องมีผ้าเป็นของตัวเอง แต่เป็นการนำผ้าที่ไม่ได้ใช้งานมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพในเชิงของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนครับ

ผู้ดำเนินรายการ: ผ้าเหลือใช้ในโรงงานต่าง ๆ สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างไรบ้างคะ ลูกค้าที่มาซื้อจะเอาผ้าเหลือใช้เหล่านั้นไปทำอะไร

คุณพล: หลายคนมักคิดว่าผ้าเหลือใช้จากโรงงานจะมีขนาดเล็ก แต่ในความเป็นจริงจะมีผ้าอีกส่วนหนึ่งที่สั่งมาเผื่อเอาไว้ประมาณ 3-5% ในแต่ละออเดอร์ เพราะโรงงาน OEM ไม่สามารถจะสั่งขาดได้ รวมไปถึงเป็นไปได้ยากที่จะสั่งของมาได้พอดี เราจึงเล็งเห็นว่าผ้าเหล่านี้สามารถนำไปขายต่อได้ เพราะคุณภาพดีระดับส่งออก รวมไปถึงปริมาณที่มีตั้งแต่ 30 ไปจนถึง 100 กิโลกรัม

ผู้ดำเนินรายการ: อยากให้ช่วยเล่าถึงความสำเร็จของการนำผ้าเหลือใช้มาลงขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ฟังหน่อยคะว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย

คุณพล: ถ้าพูดความสำเร็จของตลาดไม่ว่าจะเป็นรูปแบบออฟไลน์หรือออนไลน์ก็คือ การที่มีคนเข้ามาขายของและมีคนมาซื้อของ ส่วนตัวเราเองนั้นเป็นเจ้าของตลาด ความสำเร็จที่ว่าก็คือ คนขายสามารถขายได้ คนซื้อได้เจอของที่ถูกใจและนำไปใช้ต่อได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เราเองผู้เป็นเจ้าของตลาดก็มีกำไรผ่านทางการซื้อขายเหล่านั้น ความสำเร็จแน่นอนว่ามีหลายขั้น ในขั้นแรกคือเราสามารถนำผ้าจากหลาย ๆ โรงงานมาขึ้นบนแพลตฟอร์มได้จนตอนนี้มีถึง 70 เจ้าและมีผ้าบนแพลตฟอร์มประมาณ1 ล้านหลา 3,000 ชนิด อีกด้านคือด้านผู้ซื้อก็ประสบความสำเร็จหลายคนจากคอนเซ็ปต์ของ moreloop ได้ผ้าที่ตอบโจทย์ มีคุณภาพดี และราคาสมเหตุสมผลไปใช้ ในส่วนของรายได้ของ moreloop นั้นแบ่งออกเป็น 3 ทาง คือ

1. การขายผ้าเป็นผ้า
2. การใช้ผ้ามาผลิตยูนิฟอร์มให้กับองค์กรต่าง ๆ
3. การทำแบรนด์ของตัวเองชื่อว่าแบรนด์ moreloop
เพราะฉะนั้นการที่เรามีเครือข่ายขนาดใหญ่จึงช่วยให้เราสามารถตอบโจทย์เกี่ยวกับผ้าและสินค้าที่ทำจากผ้าได้

ผู้ดำเนินรายการ: แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่นำมาใช้เป็นโมเดลของธุรกิจมีความหมายอย่างไรบ้างคะ

คุณพล: คำว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนเริ่มต้นขึ้นมาในปี 2013 โดยส่วนใหญ่จะพูดถึงในแง่ของการลงมือทำ เช่น 3R (Reuse, Recycle, Reduce) เหล่านี้ก็อยู่ในกรอบความคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งหมด ซึ่งแนวคิดเหล่านี้เกิดจากคุณเอลเลน แมคคาเธอร์ โดยมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปรัชญา เป็นแนวคิดมากกว่าที่จะเป็น action จึงนำคำนี้มาใช้ ในแก่นของเศรษฐกิจหมุนเวียนเราจะบอกว่าปัจจุบันเศรษฐกิจของโลกเป็นเศรษฐกิจแบบเส้นตรง คือ ขุด ผลิต ใช้ ทิ้ง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาในทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากร การก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดขยะจำนวนมาก เป็นต้น ซึ่งผมคิดว่าทำไมถึงไม่นำของที่กำลังจะทิ้งกลับมาใช้ใหม่อีกสักครั้งหนึ่ง ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืนไปพร้อมกับความเจริญก้าวหน้า

ผู้ดำเนินรายการ: จุดเริ่มต้นของการนำแนวคิดนี้มาใช้ในการทำธุรกิจ moreloop คืออะไรคะ

คุณพล: moreloop เกิดจาก Co-Founder 2 คน โดยเป็นโมเดลแบบ pain กับ passion ซึ่งในด้าน passion ก็คือ ผม ซึ่งเน้นเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลง การแก้ pain point ระดับใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นธุรกิจได้จริง ต้องบอกก่อนเลยว่าผมเองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก เพราะเราเรียนมาว่าถุงพลาสติกใช้เวลาย่อยสลาย 500 ปีทำให้ผมในตอนนั้นเลือกที่จะไม่รับถุงพลาสติก แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าในเมื่อมีการรีไซเคิลทำไมยังมีปัญหาขยะเหล่านี้อยู่อีก จนได้มารู้ว่าขยะที่นำกลับมาใช้ได้นั้นมีเพียง 9% เท่านั้น อีก 91% คือการใช้แล้วทิ้ง เราจึงมีความคิดว่าแก่นความคิดของเรา คือ การเปลี่ยนของเหลือให้กลายมาเป็นตลาด และทำให้เกิดการใช้สูงสุด หรือที่เรียกกันว่า Circular Economy นั่นเอง แล้วผมก็เกิดไอเดียว่าของเหลือในอุตสาหกรรมนั้นน่าจะเหมาะกับการนำมาขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งของเหลือในอุตสาหกรรมผ้านั้นมีจำนวนมากจนกลายเป็น pain point ที่ใหญ่มากพอที่จะนำมาทำเป็นธุรกิจได้ครับ

ผู้ดำเนินรายการ: ทราบมาว่าผ้าที่นำมาจำหน่ายบนเว็บไซต์ช่วยลดขยะได้เยอะเลยใช่ไหมคะ

คุณพล: ครับ ถ้าหากเรามองว่าผ้าเหลือวันหนึ่งจะกลายเป็นขยะ ก็แปลว่าเราทำให้ผ้าเรานี้ได้นำไปใช้ก่อนที่จะถูกกำจัดทิ้งหรือดีเกรดลงไปมากกว่าเดิม อย่างเช่นในเดือนที่แล้วเราหมุนเวียนผ้าได้ประมาณ 40,000 กิโลกรัมหรือประมาณ 150,000 หลาครับ

ผู้ดำเนินรายการ: อยากทราบว่า “Lean Startup” แตกต่างจากสตาร์ตอัพทั่วไปอย่างไรคะ

คุณพล: จริง ๆ คำว่า “Lean” กับ “Startup” มักจะมาด้วยกันอยู่แล้วนะครับ เพราะสตาร์ตอัพคือการสร้างอะไรบางอย่างที่จะมาแก้ pain point ใหญ่ ๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และสามารถตีตลาดช่องว่างนั้นได้อย่างรวดเร็วผ่านกระบวนการทาง innovation “Lean Startup”ก็คือการทำอย่างไรให้การสร้างสตาร์ตอัพของเราใช้เงินน้อยที่สุดกับการทดสอบแต่ละกระบวนการ เพราะด้วยความเป็น Digital Idea จะสามารถช่วยประหยัดงบประมาณได้เยอะมาก ในการทำสิ่งใหม่ ๆ เราต้องมองให้เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น การทำเว็บไซต์หากไปจ้างทำก็ต้องใช้ค่าใช้จ่าย 3 ล้าน แต่ถ้าซื้อ package code แล้วให้คนมา deploy ก็จะเหลืออยู่ในหลักแสน แล้วก็มีอีกทางหนึ่ง คือ เว็บไซต์จำพวก Squarespace, Shoppify เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางที่ช่วยให้เราตั้ง e-commerce ของตัวเอง ค่าเช่า 30 เหรียญต่อเดือน ผมเลยเลือกอันที่ถูกที่สุด เหล่านี้เป็นกระบวนการ Lean ที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย ไม่เท่านั้น Lean ยังมีข้อดีในการช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะเราจะหาวิธีการทดลองที่ถูกที่สุด solution จึงไม่จำเป็นต้องทำครั้งเดียวแล้วสวยจบเลยก็ได้ครับ

ผู้ดำเนินรายการ: อยากให้ช่วยเล่าถึงปัญหาที่ผ่านมาว่าเคยเจอปัญหาอะไรมาบ้าง แล้วแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง

คุณพล: จากปัญหาที่เราเคยเจอมาทั้งหมดทำให้รู้ว่าเราจะต้องเจอปัญหาอีกเยอะในอนาคตแน่นอน โดยเฉพาะการทำธุรกิจแบบนี้เราจะมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และในแต่ละขั้นของการเติบโตปัญหาก็จะแตกต่างกันไป แต่ปัญหาหนัก ๆ จะไปเจอตอนที่เราออกสินค้าไปแล้วแต่รายได้ไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด ซึ่งเราปล่อยสินค้าออกมากลางปี 2018 แต่ในปีนั้นขายผ้าไปได้แค่ 600 กิโล ซึ่งรายได้มันไม่สมเหตุสมผล แล้วตอนนั้นก็ยังไม่ได้มีรายได้ในการผลิตของทำให้ผมเองก็เกือบจะถอดใจแล้วเหมือนกันครับ บทเรียนในครั้งนั้นทำให้ผมรู้จักรอเวลา เนื่องจากไอเดียหรือธุรกิจบางอย่างใช้เวลาในการเติบโตโดยเฉพาะไอเดียใหม่ ๆ และพอในปี 2019 เราได้เจอรายได้จากการทำของให้องค์กร ซึ่งกลายเป็นว่ารายได้ทางนั้นเป็นพระเอกของ moreloop เลย จากประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ผมรู้ว่าการมี passion อย่างเดียวไม่พอ เราต้องมีความอดทนด้วย ปัญหาอีกอย่างหนึ่งในช่วงแรก ๆ คือ การสื่อสารครับ เนื่องจากคอนเซ็ปต์ของเรามีทั้งเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ้าเหลือ ตลาดออนไลน์ การลดคาร์บอน แล้วเราพยายามที่จะเอามาพูดให้ง่ายที่สุด แต่ก็ต้องบอกว่าใช้เวลาไปค่อนข้างมาก ซึ่งการขายคอนเซ็ปต์และไอเดียใหม่ ๆ เป็นอีกหนึ่งชาเลนจ์ของเราครับ ในส่วนของข้อดีคือเมื่อเรามีเรื่องราวและแก่นความคิดเหล่านี้ทำให้มีคนต้องการเขียนบทความถึงเรา เพราะต้องใช้บทความในการอธิบาย ส่งผลให้เราได้พื้นที่ในสื่อมาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าจะให้พูดถึงปัญหาที่สำคัญเลยก็ต้องเป็นในช่วงโควิดเลยครับ เพราะทุกคนทำงานจากที่บ้านการผลิตเสื้อผ้าก็หยุดชะงักไป เลยหาช่องทางในการสร้างรายได้ในช่วงนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้ากากของ moreloop เสื้อยืดแบบสบาย ๆ ที่ใช้ใส่อยู่บ้าน ทำสินค้าแบบ B2C มากขึ้นซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นเพราะต้องมีการสต็อคของ แต่ในตอนนั้นสินค้าของเราค่อนข้างขายได้ในระดับหนึ่งบวกกับบริษัทเราค่อนข้าง Lean ไม่มีคนเยอะทำให้สามารถรอดพ้นจากวิกฤติเหล่านั้นมาได้ ปัจจุบันรายได้หลักของเราจะเป็นแบบ B2B ครับคือการผลิตของให้องค์กร ไม่ว่าจะเป็นยูนิฟอร์ม หน้ากาก และของจิปาถะต่าง ๆ จากผ้าส่วนเกินที่เรามีในระบบ

ผู้ดำเนินรายการ: อยากทราบถึงแนวทางการทำการตลาดว่าทำการตลาดอย่างไรบ้างคะ นอกเหนือจากบทความที่เราสามารถนำแนวคิดของเราไปประชาสัมพันธ์

คุณพล: เราไม่ได้มีงบประมาณที่ชัดเจนในการทำการตลาดครับ เพราะอย่างหนึ่งคือเรายังไม่รู้ว่าการผลิตของเราสามารถรองรับออเดอร์ได้มากน้อยแค่ไหนเลยยังไม่ได้ทำการตลาดแบบ active ครับ ส่วนใหญ่จะเป็นเชิง passive และเป็นการพูดกันปากต่อปาก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เป็นที่รู้จักก็คือการที่ทางเรานำการใช้ผ้าส่วนเกินที่เราทำการผลิตออกไปนั้น มาคิดคำนวณเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ โดยนำมาเปรียบเทียบกับระยะทางในการขับรถ ซึ่งเหล่านี้จะมีอยู่ในสินค้าของเราทั้งที่ผลิตให้กับ B2B และของแบรนด์เราเองครับ ไม่เพียงเท่านั้นการทำเช่นนี้ก็เป็นการรับผิดชอบต่อสินค้าที่เราขายเนื่องจากหากมีข้อผิดพลาดตรงไหนก็สามารถติดต่อกลับมาหาเราได้เสมอ ส่วนอื่น ๆ ก็จะเป็นการใช้ social media เช่น Facebook และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนพูดถึงก็ คือ เรามักทำอะไรที่คนคาดไม่ถึงหรือทำให้คนรู้สึกสงสัย ซึ่งเป็นการทำให้คนรู้จักเรามากยิ่งขึ้น เช่น คนจะรู้สึกสนใจว่าเสื้อตัวนี้จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้อย่างไร รวมถึงเรามีเครือข่ายเล็ก ๆ ของผู้ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะพูด และบอกต่อเรื่องราวและสินค้าของเราซึ่งดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วยครับ

ผู้ดำเนินรายการ: เป้าหมายในอนาคตของ moreloop เป็นยังไงบ้างคะ

คุณพล: ผมคิดว่าภายใน 4-5 ปีข้างหน้า ผมอยากจะทำให้ตลาดผ้าของเราที่มีอยู่ในมือใหญ่ขึ้นมากกว่าปัจจุบันสัก 4-5 เท่า มีผู้ขายประมาณ 300 คนไม่ใช่แค่ในประเทศเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วยเพราะเรามีปัญหาเดียวกันหมด อีกส่วนก็คือลูกค้าที่มาซื้อผ้าและผู้สั่งผลิตกับเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศอีกต่อไป โดยมีความคิดว่าจะเป็นการนำของที่เหลือจากประเทศที่กำลังพัฒนาส่งกลับไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วในสเกลที่ใหญ่ขึ้น รวมไปถึงอาจจะลงลึกไปในอุตสาหกรรมแฟชั่นมากขึ้นไม่เพียงแค่ผ้า แต่ยังมี ซิป กระดุม และอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถนำมาใช้งานได้ ถ้าเราสามารถทำได้อย่างที่คิดไว้ รู้วิธีบริหารจัดการของในอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างมีประสิทธิภาพผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มแล้ว ในอนาคตเราจะสามารถนำความคิดนี้ไปต่อยอดในอุตสาหกรรมอื่นได้อีกเช่นกัน หากมองเป้าหมายในระยะสั้นคือในปี 2024 เราต้องการที่จะลดคาร์บอนหรือการไม่ใช้ผ้าใหม่ให้ได้ 1 ล้านกิโลคาร์บอน ปัจจุบันเราทำได้ประมาณ 6 แสนกิโลคาร์บอนแล้วครับ

ผู้ดำเนินรายการ: หากต้องการติดตามข่าวสารของ moreloop จะสามารถติดตามได้จากช่องทางไหนบ้างคะ

คุณพล: Facebook, Instagram หรือ Line Official ก็มีครับ ใช้ชื่อ moreloop เลยครับ ส่วนช่องทางอื่น ๆ ก็กำลังดูอยู่ครับเพราะก็น่าสนใจในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่

Website: https://moreloop.ws/
Facebook: https://www.facebook.com/moreloopws
Instagram: moreloop.ws
Line Official: @moreloop

ผู้ดำเนินรายการ: อยากให้ช่วยให้กำลังใจผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจสตาร์ตอัพที่กำลังเผชิญปัญหาในช่วงโควิดหน่อยได้ไหมคะ

คุณพล: โควิดก็เป็นเหมือนตัวอย่างของปัญหาครับ การทำธุรกิจเราจะเจอปัญหาและการขึ้นลงอยู่เสมอ ซึ่งหากเราสามารถรอดหรือหาทางรอดมาได้ก็จะทำให้เราเก่งขึ้นในอนาคตแน่นอน ปัญหาทุกอย่างมันมีทางแก้แน่นอน ไม่ว่าจะแก้ทางไหนก็ตาม หากเรายอมรับในการเปลี่ยนแปลง รู้จักเรียนรู้และมองในแง่บวกจะทำให้เราสามารถฝ่าวิกฤตไปได้ครับ สิ่งสำคัญ คือ เราต้องรู้จักเตรียมพร้อมอยู่เสมอ คอยดูเรื่องการเงินอยู่ตลอด เมื่อมีเหตุอะไรที่ทำให้เราต้องตัดสินใจเกี่ยวกับธุรกิจเราจะมีข้อมูลในมือ และสามารถตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดในขณะนั้นได้ครับ

** ผู้สนใจรับชมรายการ ICHI TALK ในรูปแบบวิดีโอ สามารถรับชมผ่าน ICHI Website โซน VIDEO ได้ทันที **

RECOMMEND