Metaverse คืออะไร ทำความเข้าใจให้ตรงกัน
Metaverse คือ การยกระดับประสบการณ์ต่างๆ ในโลกเสมือนให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น ในอนาคต Metaverse จะเข้ามามีบทบาทและอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ แต่ไม่ได้เข้ามาแทนที่ เป็นเพียงการซ้อนทับกันระหว่างโลกเสมือนกับโลกในความเป็นจริงเท่านั้น
คุณฐานันดร บุญวิเศษรณกร แอดมินกลุ่ม Metaverse Siam ให้มุมมองไว้ว่า Metaverse เป็นสิ่งที่อยู่กับมนุษย์มาพักหนึ่งแล้ว เพียงแค่ไม่ได้ถูกนิยามอย่างชัดเจนว่าเป็นโลกเสมือน ในสมัยก่อนสิ่งที่พอจะทำให้เรานึกภาพของโลกเสมือนออก คือ เกมออนไลน์ เพราะเกมให้ประสบการณ์กับผู้ใช้งานในหลายรูปแบบและหลากอารมณ์
นิยามของ Metaverse คืออะไร
หากย้อนไปเมื่อ 10-20 ปีก่อน เกมยังอยู่ในรูปแบบ 2 มิติ ประสบการณ์ของผู้เล่นจะอยู่กับช่วงเวลาที่ใช้งานผ่านเครื่องเล่นเกม คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์หรือโทรทัศน์เท่านั้น แต่หากพูดถึงการพัฒนาของเกมยุคปัจจุบันในรูปแบบ 3 มิติ ที่มีการจำลองเหมือนโลกเสมือนหรือ Metaverse ซึ่งเป็นการใช้งานที่ผู้เล่นสามารถเข้าถึงประสบการณ์การรับรู้หรือมีส่วนร่วมกับโลกนั้นๆ ได้อย่างแนบสนิทและกลมกลืนไปกับชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น
คุณฐานันดร สรุปนิยามของ Metaverse ไว้ว่า “เป็นการสร้างประสบการณ์ในโลกเสมือน เหมือนเป็นอีกจักรวาลหนึ่งที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์หรือมีตัวตนได้ อาจไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในโลกของเกมเพียงเท่านั้น อย่างการประชุมผ่านโปรแกรม Zoom ก็สามารถเป็น Metaverse ได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง”
Metaverse กับการอยู่ร่วมกันกับเทคโนโลยีอื่น
เทคโนโลยีถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้เข้าสู่ความเป็นโลกเสมือนมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้มีการเจาะจงว่าต้องเป็นเทคโนโลยีใด หากเทคโนโลยีนั้นสามารถนำมาปลั๊กอินเข้าเป็นฟีเจอร์หนึ่งใน Metaverse และยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้ให้มีความหลากหลายได้ ก็ช่วยให้การเข้าสู่ Metaverse เสมือนจริงมากขึ้น
ปัจจุบันคำที่มักได้ยินบ่อยเมื่อพูดถึง Metaverse คือ NFT สินทรัพย์ดิจิทัลในเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีการแสดงตัวตนชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของและสามารถเปลี่ยนเจ้าของได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมจากเจ้าของเท่านั้น เมื่อผู้พัฒนาเห็นว่าสินทรัพย์ประเภทนี้ไม่สามารถถูกขโมยได้ จึงนำเอาข้อดีนี้มาใช้ในโลกเสมือน เช่น การขายที่ดินในโลก Metaverse ซึ่งเอามาพ่วงกับ NFT ให้เหมือนกับการมีโฉนดดิจิทัล กลายเป็นว่าที่ดินเสมือนนี้จะไม่สามารถถูกโกงหรือถูกขโมยได้
หรือเทคโนโลยีอย่าง แว่น VR เมื่อผู้ใช้สวมแว่นเข้าไปแล้วจะไม่เห็นโลกภายนอก เห็นเพียงแค่โลกเสมือนภายในแว่นเท่านั้น กับแว่น AR ที่คล้ายกับแว่นทั่วไป แต่ผู้สวมใส่ยังสามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมภายนอกและมองเห็นภาพผ่านจอที่เรียกว่า Head-up Display ซึ่งถ้าแว่น AR และ VR เหล่านี้พัฒนาให้สามารถวางขายในระดับผู้ใช้งานทั่วไปและเป็นที่นิยมได้ ก็สามารถนำมาใช้กับ Metaverse ได้เหมือนกัน
การเชื่อมโยงระหว่างโลกธุรกิจในความเป็นจริง กับ โลกเสมือนของ Metaverse
คุณฐานันดร ให้มุมมองในเรื่องพัฒนาการของเทคโนโลยีไว้อยู่ 4 เฟส เฟสแรก คือ การวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมองเห็นลู่ทางในการใช้งานทางธุรกิจแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใช้งานได้จริงๆ
เฟสที่สอง คือ เฟสที่เพิ่งเริ่มต้น แต่มีการใช้งานจริงจังแล้ว เช่น Blockchain, Cryptocurrency หรือ NFT เป็นต้น ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมและธุรกิจสามารถสร้างรายได้ได้ แต่ยังไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน
เฟสที่สาม เช่น ตลาดสมาร์ทโฟน โดยเราจะเห็นว่าทุกคนสามารถใช้สมาร์ทโฟนได้และเป็นที่แพร่หลายแล้ว แต่หากพูดถึงสมาร์ทโฟนเมื่อ 10-20 ปีก่อน บางคนอาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงและไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องใช้งานอย่างไร
ส่วนเฟสสุดท้าย ถือเป็นช่วงท้ายสุดของเทคโนโลยี เช่น คลื่นโทรศัพท์ 2G ที่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นยุค 5G แล้ว สำหรับปัจจุบันแทบทุกคนเริ่มออกจากเทคโนโลยี 2G กันหมดแล้ว
“ดังนั้น สี่เฟสของเทคโนโลยี ผมมองว่า Metaverse ยังอยู่ในเฟสแรก ซึ่งผู้ใช้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามา และเป็นช่วงที่ฝุ่นกำลังคลุ้งอยู่ หมายความว่า เป็นช่วงที่ยังเห็นภาพได้ไม่ชัดเจนว่า Metaverse จะเป็นไปในทิศทางใด ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งหลายคำถามในตอนนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเช่นกัน”
ปัจจุบัน นักการตลาดเริ่มนำคำว่า Metaverse มาใช้ในเชิงธุรกิจมากขึ้น ในฐานะที่คุณฐานันดรเป็นทั้งผู้พัฒนาและทำการตลาดด้วยมองว่ายังไม่ใช่จุดที่ธุรกิจสามารถกำหนดได้ตายตัวว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่า Metaverse
“ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นสวมหมวกใบไหนอยู่ ในมุมของนักการตลาดอาจมองว่า สมมติแค่เปลี่ยนคำว่า Multimedia Learning Center ไปเป็น Metaverse คำนี้จะดูมีมูลค่าทางการตลาดขึ้นมาทันที ทั้งที่ความหมายแท้จริงแล้วมีลักษณะเดียวกัน แต่หากคำนี้ถูกกำหนดขึ้นเป็น Buzzword ใหม่ในเชิงการตลาด แล้วสามารถทำเงินหรือมีศักยภาพในการสร้างรายได้ และมีอิทธิพลส่งไปถึงลูกค้า ก็สามารถทำได้เหมือนกัน แต่ในมุมของผู้พัฒนาอาจมองว่าเทคโนโลยีนี้กับเทคโนโลยีที่กำลังพูดถึงคือคนละอย่างกัน”
ส่วนการเชื่อมโยงของภาคธุรกิจกับ Metaverse ขึ้นอยู่กับการจินตนาการทางการตลาดว่าจะกระโดดเข้าไปในธุรกิจนั้นอย่างไร สมมติโมเดลธุรกิจ IKEA อาจให้ลูกค้าที่มาซื้อเฟอร์นิเจอร์จริงได้ของแถมเป็นไอเท็มแบบเดียวกันในโลกเสมือน หรือธุรกิจแบรนด์เสื้อผ้าที่อาจสร้างไอเท็มที่เป็นเสื้อผ้าของแบรนด์เข้าไปขายในโลกเสมือนได้เช่นกัน
คุณฐานันดร ให้คำแนะนำสำหรับนักธุรกิจหรือนักลงทุนที่ต้องการเข้าสู่โลก Metaverse ไว้ว่า ช่วงนี้ยังอยู่ในเฟสแรกและยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน ยกเว้นว่าต้องการเป็นผู้นำที่จะเข้ามายึดหัวหาดของเทคโนโลยีนี้ในอนาคต แต่ทั้งนี้ต้องระวัง ถ้าเทคโนโลยีไม่ได้เกิดขึ้นจริงก็อาจสูญเงินเปล่า แต่ถ้าประสบความสำเร็จจะกลายเป็นกลุ่มแรกๆ ที่มีความได้เปรียบในแง่ของการทำธุรกิจในอนาคต
สำหรับธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในสายเทคโนโลยีให้ลงทุนในความรู้ก่อนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม อย่าเพิ่งเอาเงินไปลงทุนหรือทำธุรกิจเกี่ยวกับ Metaverse แต่ควรพยายามเรียนรู้และเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยสัก 3 ปี ให้พอมองเห็นทิศทางความเป็นไป แล้วค่อยเริ่มขยับขยายการลงทุนที่เป็นเม็ดเงินจริงๆ
Metaverse ในอนาคต และปัจจัยที่เร่งให้เกิดการพัฒนา
การมาถึงของ Metaverse ขึ้นอยู่ปัจจัยสำคัญ คือ อุปกรณ์ในการรองรับ (Device) หากสังเกตเกมในอดีตได้รับการพัฒนาให้ดูเสมือนจริงมากขึ้น เกิดจากการพัฒนาของอุปกรณ์ที่รองรับการเล่นเกมนั้นๆ ซึ่งปัจจุบันมีหลายบริษัทเทคโนโลยีที่ทุ่มงบประมาณในการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ เช่น บริษัท Meta ที่ก่อนหน้านี้เข้าซื้อบริษัท Oculus บริษัทผู้ผลิตแว่น VR มาเป็นของตัวเอง เพื่อพัฒนาแว่น VR เวอร์ชันใหม่ให้มีความชัดและมีการมองเห็นที่เหมือนสายตามนุษย์มากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่เข้าสู่ตลาดนี้เช่นกันทั้ง Samsung, Apple และ Hololens ของ Microsoft เป็นต้น
“ผมมองว่าเร็วสุดที่ Metaverse จะเริ่มเข้าสู่ผู้ใช้งานทั่วไปคือ 5 ปีนับจากนี้ ส่วนจะเป็นที่นิยมได้น่าจะประมาณ 10 ปี สำหรับการพัฒนาของ Metaverse มีหลายองค์ประกอบที่มีส่วนผลักดันให้สามารถเติบโตได้ เช่น คุณภาพฮาร์ดแวร์ เทคโนโลยีแว่นตา สมาร์ทโฟน หรืออินเทอร์เน็ตเองก็มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้น ถ้าทุกอย่างได้รับการพัฒนาไปพร้อมกันๆ ก็จะมีส่วนช่วยให้ Metaverse สามารถพัฒนาไปได้ไกล”
สำหรับ Metaverse ณ ปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการควบคุมอย่างเหมาะสม แต่ก็เริ่มมีหน่วยงานที่เกิดจากการรวมตัวกันของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ร่วมกันก่อตั้ง Metaverse Standard เพื่อมากำหนดมาตรฐานและทิศทางของ Metaverse ในอนาคต ทั้งในแง่ของการทำธุรกิจ รวมถึงการปกป้องผู้ใช้งาน ทั้งในด้านจริยธรรมและกฎหมาย รวมถึงการส่งต่อให้องค์กรในแต่ละประเทศรับรู้ถึงข้อกำหนดกฎเกณฑ์ในการดูแลปัญหาเหล่านี้ด้วย
คุณฐานันดรได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “เรื่องของ Cyber Bully ในโลกอินเทอร์เน็ต แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นทางด้านร่างกาย แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในด้านจิตใจและอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้เหมือนกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการใช้งานโลกเสมือนหรือ Metaverse คือ การคำนึงถึงผลที่ตามมา ว่าจะไม่ไปผลกระทบทั้งต่อร่างกายและจิตใจของผู้ใช้งานจริง”