【ICHI TALK】 Perceptra ก้าวสู่อนาคตทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยี
รายการ “ICHI TALK” เชิญชวนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพในไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความหลงใหลในธุรกิจ และร่วมแชร์ประสบการณ์ รวมถึงข้อคิดดี ๆ ที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรพลาด
ผู้ดำเนินรายการ: วันนี้เราจะมาพบกับหนึ่งในสตาร์ตอัพที่มีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยผนวกเอาความเชี่ยวชาญทางการแพทย์และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ทำให้สาธารณสุขไทยก้าวหน้าด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยโรคที่รวดเร็ว ต่อจากนี้เราจะไปเรียนรู้แนวคิดของผู้บริหาร Perceptra ไปพร้อมๆกันค่ะ ขอต้อนรับ คุณไอซ์ สุพิชญา พู่พิสุทธิ์ CEO & Co-Founder จาก Perceptra ก่อนอื่นขอให้ช่วยเล่าถึง Perceptra นิดหนึ่งค่ะว่าเป็นสตาร์ตอัพเกี่ยวกับอะไรคะ?
คุณไอซ์: Perceptra เป็นสตาร์ตอัพเกี่ยวกับ HealthTech โดยเป็นผู้ผลิตและผู้ให้บริการระบบ AI ที่ช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคจากภาพถ่ายทางการแพทย์ค่ะ โดยคำว่า Perceptra มาจากคำว่า Perceptron ซึ่งแปลว่าชั้นนิวรอนชั้นหนึ่งของ AI ที่เลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ จริง ๆ ต้องบอกว่าเราเป็นการรวมตัวของกลุ่มเด็กเนิร์ดที่มี passion ทางด้าน AI แต่ก่อนหน้านั้นเราเองได้ทำ AI ให้กับกลุ่มบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย และเพิ่งเข้ามาทำทางด้านการแพทย์ได้ประมาณ 3 ปีค่ะ
ผู้ดำเนินรายการ: ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในวงการแพทย์มีชื่อว่า Inspectra อยากทราบว่ามีการทำงานอย่างไรคะ?
คุณไอซ์: เรามองว่า Inspectra เป็นผู้ช่วยแพทย์ โดยจะสแกนทุก pixel บนภาพเมื่อมองหาความแตกต่าง และสร้างขึ้นมาเป็น pattern เพื่อบ่งบอกว่าคือรอยโรคอะไร ซึ่ง AI ก็จะมาบอกแพทย์ว่ามีรอยโรคอะไรที่ตำแหน่งไหน และมั่นใจในความถูกต้องกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อแพทย์ได้เห็นภาพถ่ายเอ็กซเรย์และความคิดเห็นของ AI และทำการวินิจฉัยโรค AI จึงเปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิดของแพทย์ในการอ่านและวินิจฉัยโรค
ผู้ดำเนินรายการ: จุดเริ่มต้นและแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวนี้เริ่มมาจากที่ไหน?
คุณไอซ์: เนื่องจากตัวเองเติบโตมากับสภาพแวดล้อมเกี่ยวข้องกับทางสาธารณสุข รวมถึงที่บ้านก็เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เราจึงรู้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ทำงานกันหนักมาก ทำให้เราเล็งเห็นถึงปัญหาในเรื่องการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์นั้นเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้เราไม่อยากทำงานในด้านนี้เลยเลือกที่จะเรียนทางด้านธุรกิจ และจบ MBA ที่บอสตัน ซึ่งในระหว่างที่เรียนอยู่ได้จับกลุ่มกับ Co-Founder อีก 2 คน โดยเป็นผู้ที่จบ MBA และ AI expert แล้วมานั่งคิดกันว่าจะทำอะไรกันดี เลยเริ่มทำ AI สำหรับบริษัท ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีก่อน คนส่วนใหญ่จะรู้เรื่อง Big Data หรือ Digital Transformation แต่ยังไม่รู้จัก AI และไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตอย่างไรบ้าง ในตอนนั้นเราก็มีโปรเจ็คที่ทำจำนวนมากแต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่ใช่จุดที่เราอยากจะทำ จึงได้มีการปรึกษากันอย่างต่อเนื่อง แล้วทุกคนก็มาลงตัวที่การที่อยากจะสร้างอิมแพคอะไรสักอย่างให้กับประเทศ ประจวบกับมาพบว่าคุณพ่อที่รักษาสุขภาพเป็นอย่างดีเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายและหลังจากที่คุณพ่อเสียก็ได้ไปคุยกับผู้คนรอบตัวมากมายว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาของผู้อื่นด้วยหรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าจะตรวจสุขภาพทุกปีแต่ก็พบว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ แต่ก็ยังมีหลายปัจจัยที่เราสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขให้ดีขึ้นได้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่เด็กทำให้ค้นพบว่าสาเหตุหลักอาจจะมาจากจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถรองรับความต้องการของคนได้ ทำให้เราอยากที่จะทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้สิ่งที่เราคลุกคลีและเรียนรู้มาเกิดประโยชน์กับส่วนรวมให้ได้มากที่สุด
ผู้ดำเนินรายการ: Inspectra เข้ามาช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในแผนกไหนบ้างคะ?
คุณไอซ์: ผลิตภัณฑ์ของเราจะเกี่ยวข้องกับรูปถ่ายทางการแพทย์ จึงจะเข้าไปช่วยในภาครังสีวิทยาเป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายแล้วก็จะเชื่อมโยงไปยังทุกแผนกของโรงพยาบาลเลยค่ะ
ผู้ดำเนินรายการ: ทราบมาว่า Inspectra ได้รับความสนใจจากโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก
คุณไอซ์: ปัจจุบันกว่า 80 โรงพยาบาลทั่วประเทศได้มีการใช้งานเครื่อง Inspectra แล้วค่ะ
ผู้ดำเนินรายการ: อยากให้ยกตัวอย่างปัญหาที่เคยพบในการทำธุรกิจรวมถึงการแก้ไขปัญหาให้ฟังหน่อยค่ะ
คุณไอซ์: ส่วนตัวคิดว่าที่ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่เข้ามาทำทางด้านการแพทย์เพราะมีปัญหาค่อนข้างเยอะ และมีความเฉพาะทาง ทำให้เราต้องเข้าไปเรียนรู้เยอะมาก อีกทั้งทีมของเราเองก็ไม่มีแพทย์ ทำให้สิ่งที่เราต้องเรียนรู้นั้นมีจำนวนมหาศาล ปัญหาที่คิดว่าหนักที่สุดคือปัญหาที่เจอในช่วงแรก เพราะเราเองก็ไร้เดียงสาในตลาดนี้ ทั้งยังใหม่มากในวงการ ทำให้เกิดเสียงต้านมากมายไม่ว่าจะจากคนนอก หรือแพทย์ VC ที่เราไปหาหรือปรึกษาก็มักจะบอกว่าแพทย์ไม่ใช้งานเทคโนโลยีนี้หรอก เพราะแพทย์น่าจะเชื่อว่าตนเองดูเองจะดีกว่า ในส่วนของแพทย์เองก็อาจมองว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาแย่งงานตนเองหรือเปล่า และจะเชื่อถือได้มากแค่ไหน ในช่วงแรกที่ทำ เราก็เทรน AI ตัวแรกออกมา ซึ่งความถูกต้องแม่นยำอยู่ที่ประมาณ 80% ก็เริ่มหาอัลฟ่าเทสเตอร์ แต่เมื่อลองเอาไปใช้จริงก็เริ่มเจอปัญหาว่าเราไม่ได้ไปช่วยงานแต่กลับกลายเป็นภาระ ทำให้ได้รับคำติเตียนและคอมเม้นกลับมาพอสมควร หลังจากนั้นเราก็ได้ทำการปรับใหม่ทั้งหมด แล้วก็คิดได้ว่าสิ่งเหล่านี้นั้นมีรายละเอียดที่เราต้องใส่ใจและให้ความสำคัญค่อนข้างมาก และตัวเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ทำให้เกิดข้อผิดพลาดมากมายในผลิตภัณฑ์ตัวแรก จึงเริ่มเข้าไปหาทางโรงเรียนแพทย์ โดยเริ่มจากที่โรงพยาบาลศิริราช แล้วก็โชคดีที่อาจารย์แพทย์ที่ได้มีโอกาสพบนั้นท่านให้ความสนใจด้านเทคโนโลยี และมองเห็นถึงจุดประสงค์ที่เราต้องการจะทำให้กับสังคม อีกทั้งยังเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถปรับแก้ตามความคิดเห็นหรือฟีดแบ็กได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นก็ใช้เวลาเป็นปี กว่าที่ทางศิริราชจะเริ่มให้ภาพมาเทรนและสอนค่ะ
ผู้ดำเนินรายการ: ด้านนวัตกรรม ได้มีการนำนวัตกรรมอะไรมาใช้กับ Perceptra บ้างคะ?
คุณไอซ์: เนื่องจากของเราเป็น AI ตัว AI เองก็เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญ ลำพังแค่ตัว AI ตัวเดียวนั้นไม่พอ เราต้องใช้ AI เป็นสิบ ๆ ตัวมาทำงานด้วยกัน โดยต้องมีความเข้าใจสัดส่วนภายในร่างกาย รายงานต่าง ๆ ของแพทย์ ภาษาคน ภาษาแพทย์ และอีกมากมาย จึงจะสามารถนำมาใช้งานเพื่อตรวจหารอยโรคและระบุโรคได้ แต่ในอีกส่วนหนึ่งก็มองว่า ไม่ว่า AI จะเก่งหรือแม่นยำอย่างไร หากไม่เข้าใจระบบการทำงานหรือมาตอบโจทย์การทำงานของแพทย์แล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ในการเข้ามาช่วยงานแพทย์ อีกส่วนคือเรามองถึงเรื่องตัวระบบที่เราเข้าไปนั่งฟังและสังเกตวิธีการทำงานของแพทย์แต่ละแผนก รวมไปถึงในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เนื่องจากมีการทำงานที่แตกต่างกัน และยังดูระยะเวลาการทำงานในแต่ละขั้นตอนว่าใช้เวลามากน้อยแค่ไหน เพื่อนำข้อมูลกลับไปทำระบบที่จะสามารถตอบโจทย์เขาให้ได้มากที่สุด ลดระยะเวลาในการทำงานให้ได้มากที่สุด และสุดท้ายที่สำคัญคือระบบของเราต้องไม่ไปเป็นภาระและสร้างงานให้กับแพทย์เพิ่มขึ้น และใช้งานง่ายโดยที่บุคลากรต่าง ๆ จะต้องไม่เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน หรือไม่ต้องเสียเวลาเทรนการใช้งานเครื่อง AI เป็นเวลานาน เท่านั้นยังไม่พอ AI ยังช่วยเรียงลำดับความเร่งด่วนของแต่ละเคสให้กับแพทย์ ช่วยให้แพทย์สามารถใช้เวลาที่มีอย่างจำกัดไปรักษาผู้ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อนได้
ผู้ดำเนินรายการ: ต่อไปอยากทราบถึงเป้าหมายในอนาคตของ Perceptra ค่ะ
คุณไอซ์: เรามองว่า เราอยากจะเป็นคนจัดหาเทคโนโลยีให้ครอบคลุมโรงพยาบาลทุกขนาด ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เพราะต้องการกระจายเทคโนโลยีและโอกาสเหล่านี้ให้โรงพยาบาลลูกได้ใช้เช่นกัน เราไม่ได้ทำแค่เพียงภาพเอ็กซเรย์หรือเมโมแกรม ยังทำภาพซีที เอ็มอาร์ไอ อัลตราซาวด์ที่เราอยากจะทำให้ครอบคลุมให้มากที่สุด สุดท้ายแล้วก็คือการขยายไปยังต่างประเทศ เพราะว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศตลอด เราจึงอยากที่จะส่งออกความเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ในเชิงเทคโนโลยีของเราออกไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น เลยมองไว้ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่ะ
ผู้ดำเนินรายการ: หากต้องการติดตามข่าวสารของ Perceptra จะสามารถติดตามได้จากช่องทางไหนบ้างคะ?
คุณไอซ์: จะมีทาง Facebook, Website และ Line Official โดยทุกแอคเคาน์จะใช้ชื่อ Perceptra ทั้งหมดค่ะ
Website: https://www.perceptra.tech
Line AO: @Perceptra
Facebook: Perceptra
ผู้ดำเนินรายการ: สุดท้ายอยากให้เล่าประสบการณ์ที่จะส่งต่อให้กับผู้ประกอบการต่าง ๆ ได้ไหมคะ?
คุณไอซ์: ส่วนตัวคิดว่าสตาร์ตอัพพอเข้ามาอยู่ใน ecosystem โดยเฉพาะด้านการแพทย์ เรายังต้องการผู้ประกอบการอีกหลายรายเพื่อมาเป็นกำลังในการทำให้การพัฒนาทางด้านการแพทย์ของประเทศเติบโตได้ดีขึ้น ซึ่งความแข็งแกร่งทางด้านการแพทย์เป็นจุดหลักใหญ่จุดหนึ่งของประเทศจริง ๆ แต่เราก็เข้าใจว่าการทำสตาร์ตอัพนั้นค่อนข้างยาก ต้องใช้พลังกายและพลังใจเยอะมาก แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากตรงนี้ คือ การที่เราต้องเข้าไปทดสอบตลาด เพราะสิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหาส่วนใหญ่เราก็จะคิดผิด เราจึงต้องทำ lean marketing โดยการนำสินค้าของเราเข้าไปในตลาดเพื่อให้ได้ comment มากที่สุด เพื่อนำมาปรับและทำให้สินค้าของเราตอบโจทย์ผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด
ผู้ดำเนินรายการ: อยากให้ช่วยให้กำลังใจผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญกับวิกฤติของโรคระบาดที่ยังคงดำเนินต่อไปนี้สักเล็กน้อยค่ะ
คุณไอซ์: การเกิดโรคระบาดโควิดนั้นสร้างผลกระทบให้กับทุกภาคส่วน แต่ต้องบอกว่าในทุกวิกฤติก็จะมีโอกาสเสมอ เพราะเมื่อโควิดเป็นตัวที่มาสร้างปัญหา ก็เป็นการสร้างโอกาสใหม่ด้วยเช่นกัน เพราะมีปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งหากทำธุรกิจแล้วนั้นสิ่งที่มักจะเจออยู่เป็นประจำและเป็นเรื่องปกตินั่นก็คือการแก้ปัญหา การที่จะสร้างธุรกิจได้ดีก็คือเราต้องแก้ปัญหานั้นให้ได้ดีพอ สิ่งสำคัญคือเราต้องหาปัญหาและการแก้ปัญหานั้นให้เจอ และเราก็ต้องรักในการที่จะทำสิ่งนั้น ข้อดีของการทำธุรกิจอย่างหนึ่งคือการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องของความโชคดี คนที่ทำธุรกิจได้สำเร็จ คือ คนที่ใส่ความพยายามให้ตรงจุด และตอบโจทย์กับปัญหาที่มีให้ดีพอ ก็จะสามารถทำธุรกิจได้ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ในทีเดียวแต่ต้องเริ่มปรับตัวเพื่อตอบโจทย์กับปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้
** ผู้สนใจรับชมรายการ ICHI TALK ในรูปแบบวิดีโอ สามารถรับชมผ่าน ICHI Website โซน VIDEO ได้ทันที *
<Show Case>