Big Data

COVID-19

AI Technology

Innovation

Smart Factory

IoT, M2M

06.07.2022

【AI & ML】เพิ่มศักยภาพไร้ขีดจำกัดด้วย AI & ML ตัวช่วยธุรกิจ พร้อมสู้ตลาดโลก

เพิ่มศักยภาพไร้ขีดจำกัดด้วย AI & ML ตัวช่วยธุรกิจ พร้อมสู้ตลาดโลก

ปัจจุบัน AI และ ML ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง และมีบทบาทต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ ถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้กระบวนการทำงานสามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าปัจจุบันธุรกิจ และอุตสาหกรรมได้มีการนำเอาเทคโนโลยี AI และ ML มาปรับใช้อย่างไรให้สามารถเท่าทัน และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

คุณจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) ได้อธิบายถึงเทคโนโลยี AI และ ML ในเบื้องต้นว่า “เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นการสอนและพัฒนาให้คอมพิวเตอร์มีความฉลาดใกล้เคียงกับมนุษย์”

โดยการสอนให้เครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์มีความฉลาดได้นั้น คุณจำรัสอธิบายเพิ่มเติมว่ามีอยู่ด้วยกันหลากหลายวิธี ทั้งในรูปแบบการสอน หรือการให้เรียนรู้ได้ด้วยตัวมันเอง ซึ่ง ML หรือ Machine Learning ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ มีความฉลาดเทียบเคียงกับมนุษย์นั่นเอง

ซึ่งคอมพิวเตอร์มีวิธีการเรียนรู้ ทั้งรูปแบบการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง Step by Step หรือการเรียนรู้แบบ Random ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในลักษณะที่ให้คอมพิวเตอร์พัฒนา สะสมข้อมูล และเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีข้อมูลมากพอที่จะสามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาในสิ่งต่าง ๆ ได้เอง ซึ่งเรื่องของ AI และ ML เป็นเรื่องที่พัฒนาไปด้วยกัน

ทั้งนี้คุณจำรัสได้ยกตัวอย่างอธิบายเพิ่มเติมว่า “ในบางกรณีผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม หรือเซอร์วิสได้นำรูปแบบ AI ที่ชำนาญเฉพาะเรื่องมาใช้ เช่น AI ในการคำนวณ หรือแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เสียง รูปภาพ ตัวหนังสือ เป็นต้น ซึ่งคอมพิวเตอร์ต้องเรียนรู้ด้วยตัวมันเอง

และการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เราจำเป็นที่จะต้องมี ‘อัลกอริทึม’ หรืออะไรก็ตาม ที่จะช่วยให้สามารถแยกแยะประเภทของข้อมูลได้ เช่น การแยกแยะรูปภาพของ คน สัตว์ รถยนต์ หรือสิ่งของ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง และทำให้การนำมาปรับใช้ในการทำงานมีความแม่นยำมากขึ้น”

ซึ่งปัจจุบันภาพรวมของธุรกิจ อุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ต่างก็มีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้ในกระบวนการทำงานมากมาย โดยคุณจำรัสได้ยกตัวอย่างกรณีเทคโนโลยีล่าสุดที่อยู่รอบตัวในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น

“Autonomous Driving (รถยนต์ไร้คนขับ) เทคโนโลยีที่ทำให้รถยนต์สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวมันเอง ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำมาใช้ในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Car) รุ่นใหม่ ๆ มากมาย เช่น แบรนด์ Tesla ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มนุษย์ได้นำเอา AI มาใช้ได้อย่างน่าสนใจ”

ในขณะเดียวกัน คุณจำรัส ก็ได้เล่าเพิ่มเติมว่า ML ก็มีส่วนใน Autonomous Driving ด้วยเช่นกัน โดย ML เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้าช่วยในการเรียนรู้

“สมมติรถยนต์วิ่งอยู่บนถนน เราจะสามารถรู้ได้ว่าสิ่งกีดขวางที่อยู่ด้านหน้าคืออะไร เช่น อาจจะมีคนวิ่งตัดหน้ารถ หรืออาจจะไปเจอกับขอบถนน รถบรรทุก ซึ่งเทคโนโลยี AI และ ML จะช่วยให้การขับขี่ของเราปลอดภัยมากขึ้น และปัจจุบันก็ได้รับการยอมรับว่า มันมีความแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ”

นอกจากนี้ คุณจำรัสได้ยกตัวอย่างการใช้งานในประเทศไทย ที่โรงงานการผลิตจะต้องมีกระบวนการคัดกรอง ตรวจจับมาตรฐานวัตถุดิบ และสินค้า หรือที่เรียกว่า QC

ในกรณีที่โรงงานผลิตบรรจุน้ำลงขวด มนุษย์จำเป็นที่จะต้อง QC เพื่อตรวจสอบความถูกต้องตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจากไลน์การผลิต ทั้งในเรื่องความถูกต้องของสี หรือบรรจุภัณฑ์ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์

ซึ่งโดยปกติโรงงานต้องใช้แรงงานมนุษย์ในการตรวจจับดูสินค้าที่ออกมาในไลน์ผลิตให้ถูกต้องตามมาตรฐาน แต่อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของมนุษย์ คือ เมื่อต้องใช้สายตายืนจ้องมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็อาจมีโอกาสเมื่อยล้า หรือเกิดความผิดพลาดได้

ส่งผลให้คุณภาพและมาตรฐานไม่มีความแน่นอน หรือไม่ถูกต้อง 100% ซึ่งทำให้โรงงานการผลิตเริ่มมีการนำเอา AI มาช่วย โดยใช้เทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Machine Vision ซึ่งเป็นการอาศัย AI ในการสอนให้คอมพิวเตอร์ตรวจจับสินค้าที่วิ่งตามสายพาน และตรวจสอบความถูกต้องของสินค้า ทั้งในแบบของสี ภาชนะที่ไม่เสียสภาพ โดยกระบวนการทำงานเหล่านี้ ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิทำงานให้มนุษย์เป็นอย่างมาก

ซึ่งข้อดีในการนำ AI และ ML มาใช้นั้น คุณจำรัส ได้แบ่งออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ คือ

1. เพิ่ม Productivity ในกระบวนการทำงาน
Productivity หมายถึง ผลิตภาพ ที่จะเป็นตัวชี้วัดของการจัดการบริหารที่มีประสิทธิภาพ

“ที่ผ่านมาเรามีการใช้คนในการทำงาน แน่นอนว่ามนุษย์ก็มีข้อจำกัดการทำงานในหลาย ๆ เรื่องทั้งในเรื่องของความเร็ว และความแม่นยำ หรือข้อจำกัดต่าง ๆ ในการทำงานที่อาจทำให้เกิดความสูญเสียตามมาได้ ซึ่งการที่เราจะใช้เครื่องจักร ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานแทนได้นั้น ทำให้ ‘Productivity’ ของเราดีขึ้นเยอะ”

2. ประหยัดต้นทุน
เนื่องจากค่าแรงของคนเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันราคาของเครื่องจักร และคอมพิวเตอร์กลับมีแนวโน้มราคาลดลงสวนทางค่าแรง เนื่องจากเทคโนโลยีจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกภาคส่วน และสามารถเข้าถึงง่าย

ซึ่ง คุณจำรัส มองว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการนำ AI และ ML มาใช้ถือเป็นระยะเริ่มต้นเท่านั้น และในระยะยาว ถ้าองค์กรไม่มีการปรับตัว อาจต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลก ทั้งในเรื่องของราคาและคุณภาพ

“เพราะฉะนั้นต่อไปกราฟทั้ง 2 เส้นนี้ จะเป็นจุดตัดกัน ทำให้เกิดจุดคุ้มทุนในเรื่องของการเอาเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานของคน ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น แน่นอนว่าการที่ต้นทุนต่ำ ราคาสินค้าก็จะถูกลง และทำให้สามารถแข่งขันในต่างประเทศได้”

ท้ายนี้ คุณจำรัส ได้ฝากถึงหัวใจสำคัญของการเริ่มต้นนำเอาเทคโนโลยี AI และ ML เข้ามาปรับใช้ในธุรกิจและอุตสาหกรรม คือ ต้องเร่งพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยี AI และ ML ให้เพิ่มมากขึ้น

“ต้องยอมรับว่าการที่เรานำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ หรือคนที่มีความรู้โนว์ฮาว (Know-How) ซึ่งถึงแม้เราจะรู้ว่าคุณสมบัติของ AI และ ML มีความน่าสนใจอย่างไร แต่การที่เราจะสอนให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานตามที่เราต้องการ มันต้องเริ่มต้นที่ ML เรียนรู้ข้อมูลของเราก่อน”

ทั้งนี้ คุณจำรัส ได้ยกตัวอย่างเทคโนโลยี Machine Vision จากข้างต้นที่จะมาทดแทนแรงงานมนุษย์ในการคัดกรองสินค้า ซึ่งในการเริ่มต้นนั้น ต้องเข้าใจและเชี่ยวชาญตั้งแต่เริ่มต้นการสร้าง Data Modal และ Object เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ด้วยตัวมันเองได้ และตรวจสอบคัดกรองวัตถุที่มีมาตรฐานตามที่กำหนด

ซึ่งเมื่อสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองแล้ว AI ก็จำเป็นต้องมีอัลกอริทึม เพื่อทราบวิธีการแก้ไขปัญหา เช่น การเชื่อมต่ออุปกรณ์เครื่องจักรอื่น ๆ เพื่อดีดเอาของเสียออกจากไลน์การผลิต เป็นต้น

“ด้วยความที่เรื่องของ Technical Knowledge ถือเป็นเรื่องใหม่ มีบุคลากรที่เข้าใจ และเชี่ยวชาญจำนวนไม่มากนัก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการนำเอา AI มาใช้ค่อนข้างสูง และมีคนพัฒนาในเรื่องนี้ได้ค่อนข้างน้อย”

*************

Show Case

RELATED ARTICLES

RECOMMEND