AI & ML เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกธุรกิจ สู่ความสำเร็จที่เหนือกว่า
เทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ คือ Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อช่วยให้งานของมนุษย์มีความแม่นยำ และรวดเร็วมากขึ้น โดยเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเพิ่มศักยภาพภาคธุรกิจได้อย่างมากมาย และนำผู้ประกอบการไปสู่ความสำเร็จที่เหนือกว่า
คุณไพฑูรย์ จันทร์สุข ผู้ให้คำปรึกษาสำหรับการใช้ Machine Learning, iCONEXT Co., Ltd. กล่าวว่า AI คือสมองกลที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการจำลองการทำงาน (Virtual) ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ หรือจะเป็นหุ่นยนต์ที่พบเห็นได้ในภาพยนต์ต่าง ๆ ซึ่ง AI เป็นเหมือนสมองที่ถูกสร้างขึ้นมาแต่ยังไม่มีการเรียนรู้ ดังนั้นจึงต้องมี ML เข้ามาทำหน้าที่เสริมประสิทธิภาพ และช่วยทำให้ AI สามารถเรียนรู้ได้นั่นเอง
“AI จำเป็นต้องมีอัลกอริทึม (Algorithm) มาสร้างโมเดล เพราะ AI เปรียบเสมือนสมองกลเปล่า ๆ ที่เหมือนเด็กเกิดใหม่ยังไม่มีความรู้ใด ๆ ดังนั้น เราต้องฝึกอะไรซ้ำ ๆ อย่างเป็นรูปแบบ ซึ่งสิ่งที่สร้างการเรียนรู้ให้กับ AI ก็คือ ML”
ความเป็นมาของเทคโนโลยี AI และ ML
คุณไพฑูรย์ กล่าวว่า AI และ ML เกิดขึ้นหลังจากที่มนุษย์ได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้ และได้มีการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง จากหลาย ๆ หน่วยงานที่ต้องการลดภาระการทำงานของตัวเองลง
“จุดเริ่มต้นของ AI คือการเขียนโปรแกรมเพื่อช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ง่ายขึ้น และเริ่มพัฒนาให้โปรแกรมต่าง ๆ ทำงานแทนคนได้มากขึ้น โดยมนุษย์ต้องการให้โปรแกรมเหล่านี้เรียนรู้เองได้ คิดเองได้ ไปจนถึงสามารถดำเนินการ หรือทำอะไรแทนมนุษย์ได้มากขึ้น”
โลกของเราได้นำเอา AI และ ML มาใช้จริงในช่วงประมาณ 10 ปีก่อน แต่อาจจะยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก จนในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ และความถูกต้องมากขึ้น โดยปัจจุบัน AI ถูกพัฒนาจนสามารถเข้าใจเสียงพูดของมนุษย์มากขึ้นในหลาย ๆ ภาษา
“ยกตัวอย่างพัฒนาการของ Iphone ที่สามารถรับเสียงคำสั่งของคน และพูดเสียงคนได้ในหลาย ๆ ภาษามากขึ้น ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า AI ค่อย ๆ วิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง จนเริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
AI และ ML พัฒนาธุรกิจได้ทุกอุตสาหกรรม
คุณไพฑูรย์ กล่าวว่า AI และ ML ใช้ได้กับทุกธุรกิจ และในหลายส่วนงาน เพราะ AI ถูกออกแบบมาจากแนวคิดที่ต้องทำในสิ่งที่มนุษย์ทำได้ โดยเฉพาะในส่วนงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ตลอดเวลา และเมื่อนำ AI กับ ML มาใช้ก็จะทำให้การดำเนินธุรกิจมีความแม่นยำและรวดเร็วขึ้น
ยกตัวอย่างเช่นการนำ AI มาใช้ในธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อคำนวณระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง อย่างการ Predicting Flight delay ซึ่งสามารถใช้ตรวจสอบเที่ยวบินต่าง ๆ ว่าจะใช้ระยะเวลาในการเดินทางเท่าไร หรือการนำ AI มาใช้เพื่อพยากรณ์อากาศ หรือจัดทำ Weather Report
สำหรับในประเทศไทยจะเห็นว่าธุรกิจธนาคารเป็นกลุ่มที่นำ AI และ ML มาใช้ได้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น การใช้ Credit Scoring หรือการคัดกรองคนที่จะมากู้เงินกับธนาคาร ด้วยการใช้ AI แยกประเภทลูกหนี้ชั้นดีกับลูกหนี้ที่มีแนวโน้มจะเป็นหนี้เสีย หรือแม้กระทั่งการนำมาใช้ตรวจจับกลโกงในบัตรเครดิต หรือบัตรเครดิต ซึ่งการใช้ AI จะช่วยให้องค์กรสามารถตรวจจับพฤติกรรมได้ก่อนมนุษย์ ด้วยการกำหนดรูปแบบการโกงที่เคยบันทึกข้อมูลมาเปรียบเทียบ ดังนั้น เมื่อเกิดรูปแบบพฤติกรรมใกล้เคียงก็จะสามารถตรวจจับได้ว่องไวกว่าการที่มนุษย์วิเคราะห์ด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม คุณไพฑูรย์ มองว่า ความแพร่หลายในการนำ AI และ ML มาใช้สำหรับธุรกิจในประเทศไทยถือว่าค่อนข้างตามหลังหลาย ๆ ประเทศ สาเหตุเป็นเพราะโครงสร้างธุรกิจของประเทศไทยที่ยังมีแนวคิดว่า ภาคธุรกิจไม่จำเป็นต้องลงทุนกับเทคโนโลยีสูงมากนัก รวมถึงสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ความพร้อมสำหรับการลงทุนด้านนี้ยิ่งน้อยลง นอกจากนี้ทรัพยากรบุคคลของไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ยังน้อย แต่ ML จำเป็นต้องถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเหมือนมนุษย์ที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ดังนั้นการใช้ ML จึงต้องมีบุคลากรที่คอยปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้ตามเทรนด์โลกได้อยู่เสมอ
ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะได้เห็นการใช้งาน AI และ ML กับหลาย ๆ หน่วยงานในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย แม้ปัจจุบันทางภาครัฐอาจจะนำ AI และ ML มาใช้ในบางส่วน เช่น พยากรณ์อากาศ แต่ยังมีอีกหลายส่วนที่ยังไม่สามารถนำ AI หรือ ML มาใช้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วติดปัญหาในเรื่องของการเก็บข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์ โดยข้อมูลไม่ละเอียดเพียงพอที่จะนำไปใช้ เพราะ ML จำเป็นต้องดูข้อมูลย้อนหลังจำนวนมากถึงจะวิเคราะห์ได้แม่นยำ ดังนั้นการเก็บข้อมูลอย่างต่ำคือ 3 ถึง 5 ปี
“ML เกิดขึ้นหลังจากที่ BIG DATA เริ่มมีบทบาทในไทยช่วงตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว โดยถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล เพราะถ้าหากยังใช้คนในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากก็จะใช้เวลานาน และมีความแม่นยำน้อย ซึ่ง BIG DATA จะค่อนข้างประสบความสำเร็จ และเติบโตในปัจจุบันได้ แต่ ML เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วง COVID-19 จึงเติบโตช้า นอกจากนี้ ML ยังใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ปัจจุบันในประเทศไทยจึงได้เห็นธุรกิจที่ใช้ ML เป็นหลักคือองค์กรใหญ่อย่างกลุ่มธนาคาร”
ทั้งนี้ คุณไพฑูรย์ ได้แนะนำผู้ประกอบการให้เตรียมพร้อมกับอนาคตที่ AI และ ML จะเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น ด้วย 3 ขั้นตอนก่อนเริ่มใช้ AI และ ML คือ
1. เปิดใจยอมรับเทคโนโลยี AI และ ML เพื่อให้มองเห็นว่า เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กรได้จริง
2. เริ่มต้นเรียนรู้ข้อมูลเบื้องต้น ยกตัวอย่างเช่น การเก็บข้อมูล ซึ่งผู้ประกอบการต้องศึกษาว่าจะเก็บข้อมูลประเภทไหน รวมถึงจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้งานอย่างไร เพื่อวัตถุประสงค์ใด
3. ต้องศึกษาหาความรู้เบื้องต้นในด้านเศรษฐศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพราะ AI และ ML เป็น Algorithm ของคณิตศาสตร์ ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาข้อมูลทางเทคนิคในเบื้องต้น เพื่อให้เข้าใจหลักการทำงานของระบบ
ข้อดี-ข้อเสียของเทคโนโลยี AI และ ML
สำหรับข้อดีของ AI และ ML สำหรับ คุณไพฑูรย์ มีทั้งหมด 3 ข้อหลัก ๆ ได้แก่
1. เพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์และการทำงาน โดย AI ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลดอคติ (Bias) ของมนุษย์ เพราะโดยปกติเมื่อมนุษย์ทำงานจะมีความรู้สึกส่วนตัว และอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่ง AI ถูกพัฒนามาไม่ให้มีความรู้สึก และมีกระบวนการคิดที่ใช้ข้อมูลที่เป็นความเป็นจริงอย่างเดียว ดังนั้นทุกอย่างที่ออกมาจาก AI จึงเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และน่าเชื่อถือที่สุด
2. ลดภาระงานของมนุษย์ในส่วนงานที่ต้องทำเหมือนเดิมซ้ำ ๆ ทำให้มนุษย์สามารถไปทำงานส่วนที่ต้องใช้ความสร้างสรรค์ได้มากขึ้น
3. ลดภาระค่าใช้จ่ายขององค์กรในระยะยาว เพราะ AI จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรจากการวิเคราะห์ข้อมูล หรือจัดทำแผนการตลาดที่รวดเร็ว และแม่นยำขึ้น
ถึงแม้ว่า AI และ ML จะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยลดภาระของมนุษย์ได้อย่างมากมาย แต่หากมนุษย์หรือองค์กรต่าง ๆ ไม่พัฒนาทักษะของตัวเองก็อาจจะมีผลเสียเช่นเดียวกัน ซึ่งประเด็นนี้คุณไพฑูรย์ มองว่า เมื่อ AI สามารถทำงานบางส่วนได้ดีกว่ามนุษย์ก็จะทำให้มนุษย์ไม่มีงานทำ โดยเฉพาะส่วนของแรงงานที่ทำงานรูปแบบเดิมซ้ำ ๆ ดังนั้น มนุษย์เองต้องพัฒนาทักษะในส่วนของงานที่สร้างสรรค์มากขึ้น แล้วลดการทำงานในส่วนที่ใช้แรงงานลง
“AI มักไม่ได้รับการตอบรับที่ดีในองค์กรขนาดกลาง เพราะสิ่งที่ตามมาจากการใช้ AI คือการจ้างงานที่น้อยลงอย่างไรก็ตามในอนาคต AI จะมีบทบาทมากขึ้น ดังนั้น แรงงานเหล่านี้จำเป็นต้องพัฒนาทักษะตัวเองเพื่อให้ใช้แรงงานน้อยลง และทำงาน Create Activity มากขึ้น เพื่อที่จะไม่ถูก AI มาแทนที่”
จะเห็นว่าการนำ AI และ ML มาใช้ในองค์กร ทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจได้ทุกส่วนงานภายในองค์กร โดยเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาช่วยให้องค์กรลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ไปจนถึงการเพิ่มรายได้ เพราะ AI และ ML สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาใช้วางแผนธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถพัฒนาความรู้ให้กับประชาชนในด้านเทคโนโลยี AI และ ML ได้ก็จะมีส่วนช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศไปจนถึงพัฒนาประเทศได้เช่นกัน
“การป้อนข้อมูลและความรู้เหล่านี้ให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลหรือสนับสนุนในการเรียนรู้ด้าน AI และ ML ก็จะส่งผลดีต่อประเทศ” คุณไพฑูรย์ กล่าวในตอนท้าย
Show Case
RELATED ARTICLES