Startups

Marketing

Innovation

Digital

Software for Business

22.01.2022

【ICHI TALK】QueQ กับความประสบความสำเร็จจากการค้นหา Pain Point ของตลาด

QueQ กับความประสบความสำเร็จจากการค้นหา Pain Point ของตลาด

ผู้ดำเนินรายการ: สวัสดีครับ ขอต้อนรับเข้าสู่รายการ ICHI TALK โดยวันนี้แขกรับเชิญพิเศษของเรา คือ คุณโจ้ รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ CEO & Co-Founder บริษัท คิวคิว ประเทศไทย จำกัด และบริษัท วายเอ็มเอ็มวาย จำกัด เจ้าของแอปพลิเคชัน QueQ – No more Queue line ครับ คำถามแรกเลยคือ สภาพแวดล้อมมีผลแค่ไหนต่อการสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวของคุณโจ้เอง

คุณโจ้: มีผลมากครับ การเติบโตทางด้านอาชีพหรือในชีวิตสิ่งแวดล้อมและคนรอบข้างมีผลอยู่แล้ว และเมื่อมาทำธุรกิจของตัวเองก็ยิ่งมีผลเข้าไปใหญ่ เช่น connection ช่องทางและโอกาส ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นตัววัดผลเลยก็ว่าได้ในบริบทของประเทศไทย

ผู้ดำเนินรายการ: ในตอนเด็กมองธุรกิจเป็นอย่างไร และทราบมาว่าหลงใหลในเรื่องคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมากใช่ไหมครับ

คุณโจ้: ตอนเด็กก็ไม่ทันได้คิดว่าโตขึ้นมาจะเป็นเจ้าของกิจการ รู้ตัวเองว่าอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ ชอบทางด้านซอฟต์แวร์ แต่เมื่อได้เข้าไปทำงานก็พบว่าตนเองอยากทำอะไรที่มากกว่าการรับคำสั่ง ผลิต และส่งมอบ และอยากทำอะไรที่สามารถสร้างอิมแพคได้จริงซึ่งตรงนี้ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากต่างประเทศ เช่น ซิลิคอนวัลเลย์มีบริษัทที่เติบโตมาจากด้านเทคโนโลยีและสามารถขยายผลให้สินค้านำไปใช้ได้ทั่วโลก รวมถึงบริษัทต่าง ๆ ในยุคดอทคอม และยุคมือถือที่เป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มคิดว่าควรจะสร้างอะไรบางอย่างที่เป็นของตัวเอง แล้วให้มันเติบโต ซึ่งก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย รวมทั้งเรื่องจังหวะและโอกาสของยุคก็เปลี่ยนไป การเปลี่ยนถ่ายจากลูกจ้างมาเป็นผู้ประกอบการเกิดขึ้นในยุคดอทคอมซึ่งมีโอกาสทางธุรกิจในด้านของเทคโนโลยีมากกว่าธุรกิจแบบอื่น ยิ่งในสมัยนี้มีโอกาสทางธุรกิจเกิดขึ้นมากมาย ทำให้เด็กรุ่นใหม่มีช่องทางและทางเลือกมากกว่า เช่น การมีกล้องเครื่องเดียวก็สามารถเป็นยูทูปเบอร์ได้ จะเห็นว่าโอกาสในยุคนี้ก็จะมากกว่ายุคก่อน ๆ อีกทั้งเด็กสมัยนี้มีความกล้าที่จะกระโดดมาทำธุรกิจ มาขายของ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย

ผู้ดำเนินรายการ: นอกจากการเห็นซิลิคอนวัลเลย์ และโอกาส อยากทราบว่ามีใครที่เป็นโรลโมเดลที่ทำให้อยากเข้าสู่วงการเทคโนโลยีไหมครับ

คุณโจ้: มีแน่นอนครับ มีหลายคน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่สร้างอิมแพคได้อย่างกว้างขวาง เช่น สตีฟจ็อบส์ บิลเกตส์ หรือมาร์คซัคเคิลเบิร์กส์ บริบทของที่ซิลิคอนวัลเลย์กับเมืองไทยก็ต่างกันเล็กน้อย ก็เลยมีความคิดว่าคนไทยก็น่าจะทำได้เหมือนกัน ถ้าในเอเชียก็เช่น บริษัท Grab ของอินโดนีเซีย อีกทั้งในตอนนี้ประเทศไทยก็เริ่มยูนิคอร์นเกิดขึ้นทำให้คนรุ่นใหม่มีความกล้ามากขึ้น มองแบบอย่างความสำเร็จใกล้ ๆ ตัวแล้วก็เดินตาม ซึ่งสิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อถึงกันส่งผลให้คนรุ่นใหม่มีความกล้ามากยิ่งขึ้น

ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ว่าจะเป็นใครพื้นฐานความรู้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ หากมีโอกาสที่จะเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบคณะที่ใช่จะส่งผลอย่างไรต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานและธุรกิจไหมครับ

คุณโจ้: ในปัจจุบันโอกาสมีอยู่มากมายไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นแค่เทคโนโลยี ซึ่งเรื่องที่สำคัญกว่าคือการหาตัวเองเจอได้เร็วแค่ไหน เพราะเมื่อก่อนทางเลือกด้านการศึกษาไม่ได้มีมากเราก็จะเรียนตาม ๆ กันไป แต่ในตอนนี้ช่องทางธุรกิจและแพลตฟอร์มต่าง ๆ นั้นเปิดรับผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ ทำให้การรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ก็จะสามารถใช้ช่องทางเหล่านั้นสร้างธุรกิจได้ เพราะฉะนั้นเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ การเจอตัวเองให้เร็ว แล้วเลือกเดินไปในเส้นทางที่จะ support ในสิ่งที่ตัวเองชอบ เพราะยุคนี้มีทางเลือกและข้อมูลมหาศาล รวมไปถึงแบบอย่างความสำเร็จมากมาย หากเราศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ให้ดี และนำมาเป็นแนวทางในการทำงานและทำให้เราเติบโตมากยิ่งขึ้น

ผู้ดำเนินรายการ: ในด้านเทคโนโลยี หากพื้นฐานในเรื่องการเขียนโปรแกรม หรือ coding ไม่ดีก็อาจจะเติบโตในสายงานนี้ได้ยากใช่ไหมครับ

คุณโจ้: แน่นอนครับ การทำงานเหล่านี้ต้องประกอบไปด้วยทักษะ การเรียนรู้ และประสบการณ์ ในส่วนของเทคโนโลยีก็ใช่ว่าจะมีแค่เรื่องโปรแกรมเมอร์ ตัวผมเองก็ไม่ได้เขียนโปรแกรมมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังคงมีพื้นฐานในเรื่องการเขียนโปรแกรมอยู่ ถ้าจะยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ วิศวกรกับสถาปนิกทำงานออกแบบตึก แต่ก็ต้องเรียนรู้ตั้งแต่แรกว่าต้องผสมปูนอย่างไร ซึ่งเหล่านี้คือพื้นฐานที่ทำให้พอเวลาเราไปดีไซน์ที่ภาพใหญ่ก็สามารถจะลงรายละเอียดไปที่ภาพย่อยได้ว่าจะต้องทำอะไร และรู้วิธีการแก้ปัญหา ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า เพราะเมื่อเกิดปัญหาหากเราไม่รู้พื้นฐานก็จะทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ โดยส่วนใหญ่ของการทำธุรกิจคือการแก้ปัญหา ซึ่งพื้นฐานตัวนี้เองก็จะช่วยเราได้เยอะเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

ผู้ดำเนินรายการ: ทราบว่าชีวิตของคุณโจ้ในแต่ละช่วงชีวิตของการเปลี่ยนแปลงมักเจออะไรที่ยากค่อนข้างเยอะใช่ไหมครับ

คุณโจ้: ช่วงที่เปลี่ยนจากการเป็นโปรแกรมเมอร์มาเป็นเจ้าของธุรกิจก็ว่ายากแล้ว แต่ช่วงที่รู้สึกว่าลำบากที่สุดในการปรับตัวคือตอนที่เริ่มมาทำสตาร์ตอัป เพราะว่าการกระโดดมาเป็น CEO ของสตาร์ตอัปเป็นงานที่ยากมาก ในตอนที่ตั้งทีมขึ้นมา โดยในทีมจะประกอบด้วยตำแหน่ง CEO CTO CSO ในส่วนของ CEO ในตอนแรกสุดที่ยังไม่มีสินค้าหรือบริการก็ต้องดูเรื่องสินค้าว่าจะสร้างสินค้าอะไร และจะเกิดเป็นธุรกิจได้หรือไม่ พอเริ่มลงมือทำสินค้าก็จะกลายเป็น product manager โดยจะเป็นผู้ตัดสินใจทิศทางของสินค้า และรับผิดชอบในทุก ๆ เรื่องของผลิตภัณฑ์ และรับหน้าที่เซลล์ไปขายสินค้า โดยต้องรับหน้าที่ทำ branding และ marketing พูดง่าย ๆ คือหากงานไหนไม่มีผู้รับผิดชอบงานนั้น CEO จะต้องเป็นคนทำก่อนแล้วค่อยหาคนมาทำงาน ซึ่งบทบาทที่กล่าวมาในข้างต้นนั้นเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ซึ่งสำหรับผมแล้วเป็นเรื่องยากที่สุดครับ

ผู้ดำเนินรายการ: หนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของคุณโจ้คือการแสดงข้อความที่ขึ้นอยู่ตามหน้าจอทีวี ที่ทางทีมคุณโจ้ก็เป็นคนเริ่มใช่ไหมครับ

คุณโจ้: ใช่ครับ เริ่มในตอนสมัยทำช่องสาม ในส่วนของไอเดียมาจากการตลาดของช่องสาม ส่วนผมอยู่ในทีมที่ทำให้ใช้งานได้จริง รายการแรกคือรายการ F4 ของไต้หวัน ที่นำเอาข้อความมาขึ้นบนหน้าจอทีวี ในยุคนั้นไม่มีใครบอกว่าต้องทำยังไง สิ่งที่รู้คือเราสามารถ insert หน้าจอคอมพิวเตอร์เข้าไปในจอทีวีได้ ก็คือสามารถบรอดแคสต์ได้ และคอมพิวเตอร์ก็สามารถไปอินทิเกรตกับข้อความ SMS ได้ ซึ่งถ้ามองในปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือยากอะไร

ผู้ดำเนินรายการ: หากเราย้อนกลับไปในอดีตหนุ่มสาวสมัยก่อนที่สนใจในเรื่องคอมมูนิตี้ก็มักจะคุ้นกับ MSN รวมไปถึงเจ๊าะแจ๊ะดอทคอมด้วย อยากให้เล่าเรื่องเจ๊าะแจ๊ะดอทคอมให้ฟังกันสักเล็กน้อยได้ไหมครับ

คุณโจ้: เจ๊าะแจ๊ะดอทคอมนี่เป็นงานแรกเลยครับ ตอนนั้นกำลังเรียนปริญญาโทเทอมสุดท้ายและได้ทำงานด้วย โดยเจ๊าะแจ๊ะดอทคอมเป็นเว็บเพอร์ทัลในยุคดอทคอม และผมทำงานในบริษัทดอทคอมถ้าให้เปรียบก็เหมือนกับสตาร์ตอัปในยุคนี้ เป็นที่ที่ผมได้จับเรื่องของการทำเว็บพอร์ทัลซึ่งเป็นพื้นฐานของโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยก่อนหน้าที่จะเป็นยุคดอทคอมจะเป็นระบบไคลแอนท์เซิร์ฟเวอร์ซึ่งเป็นการเชื่อมกันระหว่างอุปกรณ์ไม่ใช่อินเตอร์เน็ต ซึ่งในยุคที่ผมทำงานนั้นเป็นยุคอินเตอร์เน็ต และอินเตอร์เน็ตก็เป็นพื้นฐานของเทคโนยีทั้งหมด ซึ่งก็เป็นจังหวะที่ดีที่ได้ไปทำเว็บพอร์ทัลตัวนั้น และได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต

ผู้ดำเนินรายการ: พอมาเป็นสตาร์ตอัปทางสายเทคโนโลยีและสร้าง QueQ ขึ้นมา อยากทราบว่าอะไรที่นำมาใช้จากอดีตและมีอะไรบ้างที่เก็บเกี่ยวจากปัจจุบัน

คุณโจ้: เยอะมากนะครับ ในส่วนของเทคโนโลยีก็มาจากประสบการณ์ตั้งแต่ตั้งต้นเลย ผมเข้าไปทำ mobile ตั้งแต่ยุคที่เป็น ปาล์ม พอกเก็ตพีซี วินโดวพีซี โดยในช่วงที่ทำงานที่เจ๊าะแจ๊ะ ทางล็อกซ์เล่ย์ตั้งแผนกวิจัยและพัฒนา และก็ทำแอปพลิเคชันหมุดปาล์ม ก็เลยได้เข้ามาทำเรื่องของ mobile โดยที่มีพื้นฐาน คือ อินเตอร์เน็ต พอไปทำงานที่สนุกดอทคอมก็ทำเว็บพอร์ทัลเช่นเดียวกัน สนุกเองก็ได้เอาแอปพลิชันบางตัวเข้ามา พอไปทำงานที่ช่องสามก็ทำสองอย่างคู่กัน ทั้งบรอดแคสติ้งและก็เว็บไซต์ และก็มีฝั่งที่เป็น mobile app ด้วย ด้วยพื้นฐานเหล่านี้ทำให้พอมาทำบริษัทเองก็เลยเน้นมาที่ mobile application เลย ถ้าพูดถึงการเปลี่ยนเอาเทคโนโลยีซึ่งตอนนั้นมารวมทีมกันก็เป็นบริษัทซอฟต์แวร์เอาส์ รับจ้างทำ พอถึงจุดหนึ่งเราอยากทำผลิตภัณฑ์ของตัวเองมาเป็นสตาร์ตอัป ตรงนั้นและครับที่เป็นจุดที่กระโดดข้ามจากการเป็นโปรแกรมเมอร์มาเป็นนักธุรกิจจริง ๆ ซึ่งถ้าพูดก็คือเป็นอีกเกมที่ก็อปปี้มาจากโมเดลที่สตีฟจ็อบส์ หรือมาร์คซักเคิลเบิร์กส์ทำแล้วมันไปได้ดีที่ซิลิคอนวัลเลย์นั่นแหละ แพทเทิร์นเดียวกันเป็นเกมคนละเกมกับธุรกิจยุคเก่า ทำให้ตอนนั้นได้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์ของการทำธุรกิจแบบใหม่แล้วก็โฟกัสมาที่การทำสตาร์ตอัปเลย

ผู้ดำเนินรายการ: ในส่วนของ QueQ ที่มาที่ไปที่ทำให้คุณโจ้มั่นใจว่านี่คือ pain point และสามารถทำให้เกิดธุรกิจที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ได้เกิดจากอะไรครับ

คุณโจ้: ในตอนแรกที่ทำก็สับสนว่าจะเป็นสตาร์ตอัปได้จริงไหม แต่ในส่วนของ pain point ก็เห็นได้อย่างแน่ชัดว่ายังไม่มีใครแก้ปัญหานี้ได้สักที เพราะฉะนั้นคนที่อยากหา solution เข้าไปแก้ปัญหาความหนาแน่นในพื้นที่รับบริการต้องมีแน่นอน ผมเองได้ไปเจอ pain point นี้ที่ธนาคาร แต่พอเรียนรู้ศาสตร์ของสตาร์ตอัปเรื่องการเลือกตลาดแรก ผมก็เลยไปจับตลาดร้านอาหารก่อน เพราะจะทำให้ branding ไปถึงคนได้ง่ายกว่าเพราะมีความถี่ในการใช้งานสูง ในการทำโฆษณาก็มีเรื่อง User acquisition แล้วก็ Lifetime value ซึ่งหากพูดถึงตลาดที่มีปัญหามากเรื่องคิวมากที่สุด คือ โรงพยาบาล แต่หากเราไปโฆษณาว่า “หากคุณวางแผนจะเข้าโรงพยาบาลครั้งหน้าอย่าลืมใช้ QueQ” ก็ไม่ได้ใช่ไหมครับ เพราะโรงพยาบาลไม่ใช่ที่ที่จะไปกันบ่อย ซึ่งการทำ User acquisition กว่าที่เขาจะรับรู้มันมีค่าใช้จ่าย การที่เค้ารับรู้แบรนด์เราจากโรงพยาบาลกว่าจะได้ใช้อีกครั้งก็อาจจะลืมไปแล้ว ทำให้สิ่งที่เรียกว่า Lifetime value หรือว่าการใช้ซ้ำจะหายไป เพราะฉะนั้นตลาดของ QueQ ที่มีความถี่มากที่สุด คือ ร้านอาหาร ก็เลยเลือกเป็นตลาดแรก ซึ่งต้องบอกในการทำสตาร์ตอัปตลาดแรกเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งบังเอิญว่าเราเลือกได้ถูกต้องทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก วิธีคิดเหล่านี้ผมได้เรียนรู้มาจากการทำสตาร์ตอัป

ผู้ดำเนินรายการ: ทาง QueQ มีเป้าหมายยังไงบ้างครับ จะขยายไปยังระดับภูมิภาคหรือก้าวไปตรงไหนยังไงบ้างครับ

คุณโจ้: จริง ๆ เราวางแผนขยายไปยังต่างประเทศแล้ว มีการระดมทุนแล้ว แต่พอเป็นยุคโควิดก็ต้องมีการปรับตัว ทำให้ร้านอาหารมีปัญหาเกือบทุกประเทศที่เราขยายไปเนื่องจากมีการล็อกดาวน์ แต่โชคดีที่เราได้ทำการขยายสเกลไปยัง segment อื่น ๆ ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาด ทำให้เรามีทางเลือกในการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มเหล่านี้ รวมถึง solution ของเรานั้นตอบโจทย์การเว้นระยะห่างในยุคโควิด ทำให้ร้านอาหารทั้งในและนอกห้างไหลเข้ามาในระบบ เช่น สุกี้ตี๋น้อย รวมถึงธนาคาร หรือองค์ของรัฐต่าง ๆ ที่เมื่อเปิดเมืองก็กลับมาทำงานกันเช่นเดิมแต่ยังต้องรักษาระยะห่างเพื่อความปลอดภัย solution ของเราก็เข้าไปตอบโจทย์เช่นเดียวกัน เช่น คิววัคซีน หรือคิวตรวจเชื้อ เป็นต้น ซึ่งแพลนของผมตอนนี้ไม่ได้ยาว แค่คิดว่าทำอย่างไรให้ประเทศไทยเปิดเมืองได้เพียงเท่านี้ธุรกิจของเราก็ได้จะรับประโยชน์กลับมาเอง ตอนนี้ก็เลยมาโฟกัสว่าทำอย่างไรให้ภาครัฐเปิดประเทศได้

ผู้ดำเนินรายการ: รบกวนให้ฝากกำลังใจและแนวทางในการก้าวไปข้างหน้าถึงผู้ชมของ ICHI TALK หน่อยครับ

คุณโจ้: ตอนนี้บริบทของประเทศเราน่าจะโฟกัสไปในเรื่องของการเปิดเมืองให้ได้ และกลับมาใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงปกติให้ได้ แล้วก็เศรษฐกิจต่าง ๆ ก็จะค่อยฟื้นตัวขึ้นมา ซึ่งถ้าใครที่ต้องการสร้างธุรกิจหรือทำธุรกิจอยู่ก็ต้องมีความอดทนกันหน่อย แล้วก็หาวิธีว่าทำอย่างไรให้มีกระแสเงินสดเข้ามาในบริษัทให้เยอะมากที่สุด และรอจังหวะโอกาส แต่ในยุคนี้ยังไงก็ต้อง New Normal ต้องมีการใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ในธุรกิจ ทำให้ลูกค้ามีความปลอดภัยควบคู่ไปกับสินค้าและบริการของเราด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เรามีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น

RECOMMEND