FinTech

Innovation

Digital

EC, O2O, Omnichannel

Payment, Cashless

19.01.2022

【FinTech】ถอดรหัสเทคโนโลยีการเงินที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกทั้งใบ

ถอดรหัสเทคโนโลยีการเงินที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกทั้งใบ

FinTech กลายเป็นกุญแจสำหรับการสร้างโอกาส และต่อยอดธุรกิจของผู้ประกอบการ นำไปสู่ความได้เปรียบเชิงแข่งขัน แต่คำถามคือ เราเข้าใจเทคโนโลยี FinTech ได้ดีแค่ไหน? และพร้อมจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้กับการดำเนินธุรกิจในโลกอนาคตหรือยัง?

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินคำว่า FinTech กันมากขึ้น ซึ่ง FinTech นั้น มาจากคำว่า Financial Technology เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจด้านการเงิน เช่น การโอนเงินผ่าน Mobile Banking และการชำระเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือ (E-Payment) ไปจนถึงการให้บริการสินเชื่อ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งปัจจุบัน FinTech เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่เกิดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินเปลี่ยนแปลง การดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมไม่อาจตอบสนองต่อตลาดได้อีกต่อไป จึงไม่ต้องแปลกใจหาก FinTech กลายเป็นสิ่งที่ถูกให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการในเวลานี้

คุณแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการธนาคารมามากกว่า 20 ปี และมีความรู้และประสบการณ์ในด้าน Innovation และ Start-Up เป็นอย่างดี ได้กล่าวถึงเทคโนโลยี FinTech ว่า เราสามารถใช้ FinTech ได้ในทุกอุตสาหกรรม เพราะทุกธุรกิจจำเป็นต้องมีระบบการชำระเงิน จึงข้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการเงินอย่างแน่นอน และเทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจของคุณแข็งแกร่งขึ้น

FinTech กุญแจสู่ความสำเร็จ

สำหรับรูปแบบของ FinTech มีทั้ง Business to Customer (B2C) และ Business to Business (B2B) ซึ่ง B2C จะทำงานกับลูกค้าส่วนบุคคล แต่ B2B จะทำงานร่วมกับเจ้าของกิจการ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ประกอบการในประเทศไทยหลายบริษัทได้ใช้ FinTech เข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อธุรกิจของคุณต้องมีการชำระเงินจากต่างประเทศ ซึ่งการโอนเงินรูปแบบเดิม ๆ จะต้องใช้ระยะเวลา 1-3 วัน และไม่สามารถติดตามขั้นตอนระหว่างการโอนเงินได้ แต่หากใช้เทคโนโลยี Blockchain ที่สามารถทำธุรกรรมการเงินแบบไม่ต้องผ่านตัวกลางจะทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการประยุกต์ใช้ Blockchain กับ FinTech ได้ช่วยให้กระบวนการชำระเงินเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ FinTech ร่วมกับโปรแกรมบัญชี ซึ่งเพิ่มความสะดวกสบายสำหรับการบันทึกบัญชีแบบ Cloud Accounting platform ทำให้ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็สามารถจัดการระบบบัญชีได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และยังสามารถคำนวณได้อย่างอัตโนมัติ ทำให้เห็นรายรับ รายจ่าย และผลประกอบการได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องจ้างพนักงานบัญชีอีกต่อไป เพียงแค่ใช้ระบบบัญชีอย่างแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Peak ซึ่งสามารถทำระบบบัญชีได้อัตโนมัติ และสรุปรายรับรายจ่ายกำไรขาดทุนได้ทันที

สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูลการซื้อขายของลูกค้า รวมไปถึงการชำระเงินที่รวดเร็ว และค่าธรรมเนียมการโอนเงินที่น้อยลง หรือแม้กระทั่งธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่สามารถนำข้อมูลที่จัดเก็บบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมาวิเคราะห์ เพื่อช่วยในการบริหารทรัพยากร

ขณะที่ FinTech ยังเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการลงทุน อย่างเช่น “FINNOMENA” แพลตฟอร์มตัวแทนนายหน้าหลักทรัพย์ที่นอกจากจะมีระบบซื้อขายกองทุนออนไลน์ที่รวดเร็วแล้ว ยังใช้ระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ในการคัดเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับความต้องการให้นักลงทุน และมีความโปร่งใสในการเลือกกองทุนที่ได้ผลตอบแทนดีที่สุด ตอบโจทย์ที่สุด

นอกจากนี้การใช้ FinTech กับดำเนินธุรกิจแบบ B2B ยังได้รับความสนใจอย่างมาก เช่นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม เราได้เห็นการนำ FinTech เข้ามาใช้เรียกว่า Blockchain for Supply Chain ซึ่งทำให้เจ้าของธุรกิจเห็นข้อมูล กระบวนการในระบบของสายการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ปัญหา และพยากรณ์ธุรกิจได้ตรงจุด แม้กระทั่งการส่งออก และนำเข้าก็สามารถนำ Blockchain เข้ามาประยุกต์ใช้ทำให้ติดตามขั้นตอนได้ตั้งแต่ต้นทางไปจนจบกระบวนการ

“ในกลุ่มอุตสาหกรรม Logistics ได้นำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาเชื่อมต่อรับ-ส่งข้อมูลตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ยกตัวอย่างเช่น การนำเข้าปลาจากประเทศญี่ปุ่นที่นำเทคโนโลยี Blockchain in Logistics มาใช้ ทำให้ผู้ประกอบการเห็นกระบวนการ และราคาสินค้า ตั้งแต่เริ่มต้นที่ตลาดปลา มาจนถึงการเก็บรักษา และการขนส่ง มาจนถึงปลายทางที่สามารถชำระเงินและยังสามารถเชื่อมต่อไปจนถึงกรมศุลากรได้อีกด้วย”

เทคโนโลยีเบื้องหลัง FinTech

จะเห็นว่า FinTech สามารถช่วยพัฒนาธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งภายใต้ความสะดวกรวดเร็วของเทคโนโลยี FinTech มีเบื้องหลังคือการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่หลากหลาย จึงช่วยให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่นำ FinTech มาใช้โดดเด่น ได้แก่

  1. Artificial Intelligence :AI ถูกนำมาใช้สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลแทนมนุษย์ ช่วยให้การพยากรณ์ธุรกิจแม่นยำ และรวดเร็วขึ้น ซึ่งในปัจจุบันหลายธุรกิจได้ใช้ AI Machine Learning ในการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าแต่ละราย
  2. Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ธุรกรรมทางการเงินบน FinTech เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนี้ยังทำให้สามารถตรวจสอบกระบวนการต่าง ๆ ในการรับส่งข้อมูลอย่างเป็นขั้นตอน ไม่ว่าอยู่ต้นทาง กลางทาง หรือปลายทาง
  3. Quantum Computer หรือ ระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้วยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาในอนาคต และจะเข้ามาช่วยให้การประมวลผลเกิดขึ้นได้อย่างเร็วขึ้นมากกว่าเดิม

FinTech Law & Regulation ในประเทศไทย

ในปัจจุบันบริษัท Start-Up ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในประเทศไทยได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเม็ดเงินลงทุนในปี 2020 เติบโตจากปี 2019 ถึง 3 เท่าตัว และปี 2021 มีแนวโน้มว่าจะเติบโตต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีบริษัทที่เป็นยูนิคอร์น 3 ราย คือ Flash Express, Ascend Money และ Bitkub ซึ่งทั้ง 3 บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยี FinTech ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี FinTech ต้องอยู่ภายใต้การกำกับ และดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมี 3 ส่วนหลัก ๆ

  1. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำกับดูแล FinTech ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงินในประเทศไทย
  2. สำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแล FinTech ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ ด้านการลงทุน
  3. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำกับดูแล FinTech ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต

โดยการทำ FinTech ในประเทศไทยจะต้องมี Regulator คอยกำกับดูแล และปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ ได้ให้การสนับสนุน Tech Start-Up มากขึ้น เช่น ธปท.ได้เปิดรับไอเดียใหม่ ๆ จากผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถเข้าไปอยู่ใน Sandbox หากผ่านการทดลองก็จะสามารถออกมาทำธุรกิจได้อย่างเต็มตัว

ความท้าทายที่รออยู่

ถึงแม้ Tech Start-Up หรือ FinTech ในประเทศไทยจะมีการเติบโตได้อย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือการขาดแคลนนักพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยมีนักพัฒนาน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลก จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมเพื่อสร้างนักพัฒนาให้มากขึ้น

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความท้าทายของ FinTech เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันนี้ FinTech สามารถให้บริการด้านการชำระเงิน การลงทุน การให้สินเชื่อ และรวมตัวกันอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวซึ่งทำให้การดำเนินธุรกิจสะดวกรวดเร็วมากขึ้น หากเรายังดำเนินธุรกิจ หรือให้บริการรูปแบบเดิม ๆ ก็จะเสียเปรียบคู่แข่งที่มีแพลตฟอร์มดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เหนือกว่า

“ปัจจุบันผู้ประกอบการในหลากหลายอุตสาหกรรมได้ปรับตัวมาใช้ FinTech มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นช่วยลดต้นทุนทางการเงิน ช่วยเก็บรวมรวมข้อมูล ตรวจสอบขั้นตอนและวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยี FINTECH นั้น แฝงอยู่ในทุกอุตสาหกรรม และมีความสำคัญสำหรับการนำไปพัฒนาธุรกิจได้ในทุก ๆ องค์กร”

สำหรับบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความรู้ด้านเทคโนโลยี FinTech เท่านั้น หากใครที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับ FinTech ที่ยังมีรายละเอียดให้ศึกษาอีกมากมาย โดยสามารถเข้าชม VDO บรรยายตัวเต็มจากคุณแซม ตันสกุล ได้ใน “ICHI Special Edition / feat. FinTech” หรือคลิกที่นี่

SHOW CASE

Related Articles

RECOMMEND