“Digital Transformation will change your business” Assoc. Prof. Dr. Thanachart Numnonda Executive Director IMC Institute
อาจกล่าวได้ว่า ณ เวลานี้เรากำลังเผชิญหน้ากับยุค “การทำลายอย่างสร้างสรรค์” สองระลอก โดยระลอกแรกเกิดจากนวัตกรรมในองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งมีความรุดหน้าอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ดิจิทัล รวมถึงแอปพลิเคชันในอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Digital disruption จากนั้นโควิด-19 ก็ได้เข้ามาเป็นปัจจัยก่อให้เกิดการทำลายอย่างสร้างสรรค์ระลอกที่สอง ถือเป็นตัวเร่งให้เกิด Digital disruption รวดเร็วยิ่งขึ้นอีก
เทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบระดับใหญ่หลวงต่อธุรกิจของพวกเรา มีดังต่อไปนี้
1) IoT (Internet of Things)
หมายถึงอุปกรณ์ทุกชนิดที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต โดยสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ขาดไม่ได้สำหรับธุรกิจของพวกเรา
2) ระบบคลาวด์
สิ่งจำเป็นสำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่จากอุปกรณ์ต่าง ๆ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์
3) 5G
ปัจจัยอำนวยความสะดวกในการส่งต่อข้อมูล ด้วยระบบการสื่อสารความเร็วสูง
4) บิ๊กดาต้า
ข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมและคำนวณจากอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะ IoT ซึ่งเป็นปัจจัยก่อเกิดประโยชน์อเนกอนันต์ทางด้านธุรกิจ
5) ปัญญาประดิษฐ์ (AI)
เทคโนโลยีเพื่อการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มลูกค้า เพื่อให้เข้าใจลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
6) ควอนตัมคอมพิวเตอร์
คอมพิวเตอร์แห่งยุคอนาคต ซึ่งจะเข้ามาช่วยจัดการปัญหาที่ยากจะรับมือได้ภายในเวลาหรือขอบเขตพื้นที่ตามความเป็นจริง
7) ระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์
กลไกจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดของธุรกิจให้อยู่ในความปลอดภัย จะเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้น
8) ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้งานหรือ User Interface (UI)
การพัฒนา UI รูปแบบต่าง ๆ อาทิ ระบบสั่งงานด้วยเสียง VR และ AR จะรุดหน้ามากยิ่งขึ้น
9) บล็อกเชน
เมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูล กลไกซึ่งช่วยให้การแลกเปลี่ยนนั้นดำเนินอย่างถูกต้องเหมาะสม ยากต่อการปลอมแปลงแก้ไข อีกทั้งช่วยให้การแลกเปลี่ยนลื่นไหลไม่สะดุด ย่อมเป็นที่ต้องการตามมา
เทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตทั่วโลก รวมถึงทำหน้าที่เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าในอนาคตภายภาคหน้า องค์กรธุรกิจที่นำปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาใช้งานจะมีเพิ่มขึ้น พูดอีกอย่างหนึ่งคือ การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญ เพื่อให้บริษัทของตนมีกำลังแข่งขันเป็นต่อเหนือคู่แข่ง ในทางตรงกันข้าม หากไล่ตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ทัน ก็คงยากจะหนีผลกระทบรุนแรงจาก Digital disruption ได้พ้น
หลายคนเข้าใจว่า Digital Transformation เป็นแค่เพียงการปรับการทำงานให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digitization) แต่แท้ที่จริงแล้ว Digital Transformation หมายถึง การปฏิวัติรูปแบบการบริหารจัดการ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในกระบวนการปฏิบัติงาน และปรับแก้ระบบการทำงานที่ผ่านมาให้ดีขึ้น เพื่อเชื่อมโยงสู่สร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ
การเข้าใจลูกค้าอย่างรู้ลึกรู้จริง ถือเป็นหัวใจสำคัญในกระบวนการ Digital Transformation ส่วนบุคลากรซึ่งมีความเข้าใจเป้าหมาย รวมถึงรูปแบบธุรกิจขององค์กรอย่างถ่องแท้ มีวัฒนธรรมเข้าใจลูกค้า เรียนรู้เร็วทำงานไว เปรียบได้กับทรัพยากรสำคัญที่ทุกบริษัทควรต้องมีเก็บไว้ ขณะเดียวกัน แม้จะเป็นหน่วยงานธุรกิจขนาดเล็ก ก็ไม่ควรหละหลวมในเรื่องความซื่อสัตย์ต่อธุรกิจ ความเอาใจใส่ รวมถึงรู้จักค้นคว้าหาข้อมูลด้านเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ เพราะในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวเข้ามาเป็นเครื่องมือสำหรับการปฏิรูปธุรกิจเช่นนี้ การติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนสู่ดิจิทัล (Digitalization) ในภาคธุรกิจอยู่เป็นประจำ อาจเป็นหนทางเดียวที่ช่วยให้อยู่รอด
รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ คือ ผู้นำด้านการขับเคลื่อน Digital Transformation ในประเทศไทย และเคยขึ้นบรรยายในงานสัมมนาต่าง ๆ มาแล้วมากมาย นอกจากนี้ยังเป็นผู้อำนวยการสถาบัน IMC ซึ่งคอยนำเสนอบทความน่าสนใจแก่บรรดาผู้ประกอบการไทยอยู่ไม่ขาด การบรรยายครั้งนี้ทำให้เราทุกคนมองเห็นภาพว่า Digital Transformation นี่ละ ที่เป็นทางลัดสู่การพลิกฟื้นเศรษกิจไทยอย่างแท้จริง
ครั้งหน้าพบกับเนื้อหาการอภิปรายในหัวข้อ “Success story of Digital Transformation in Thai” โดยตัวแทนจาก 3 บริษัทประกอบด้วย NTT Data, Hitachi Asia, Thai NS Solutions ดำเนินรายการโดย คุณวิชัย วรธานีวงศ์